แปลจาก...World History ของ Mcdougal Littel
แปลโดย...ทรงศักดิ์ สายหยุด

กำเนิดพระพุทธศาสนา

กำเนิดพระพุทธศาสนา
ศาสนาที่สำคัญอีกศาสนาหนึ่งของโลก คือ ศาสนาพุทธ ก็กำเนิดขึ้นในประเทศอินเดีย  พุทธศาสนา มีพื้นฐานมาจากคำสอนของเจ้าชายสิทธัตถะ โคตมะ (สันสกฤต เป็น สิทธารถะ  เคาตมะ) ซึ่งสละทรัพย์สมบัติมากมายออกบวชเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์ และทรงค้นพบทางพ้นทุกข์ดังกล่าวแล้วจึงประกาศและเผยแพร่คำสอนนั้น พระองค์จึงถูกเรียกว่า “พระพุทธเจ้า หรือ พุทธะ” แปลว่า “ผู้รู้แจ้ง ผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว”

ชีวิตและคำสอนของพระพุทธเจ้า  เจ้าสิทธัตถะเกิดเป็นเจ้าชายฮินดู (ความจริงเป็นพราหมณ์ เนื่องจากสมัยนั้นฮินดูยังไม่มี)  ดาบส (หมายถึงอสิต หรือกาฬเทวิลดาบส) ทำนายว่า พระองค์จะเป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน  เพื่อป้องกันเหตุนี้ พระราชบิดาของพระองค์จึงปกปิดพระองค์ไม่ให้ทราบเรื่องนี้  เจ้าชายสิทธัตถะไม่เคยเห็นคนชรา คนเจ็บป่วย คนตายหรือความยากจนกระทั่งพระชนมายุ 29 พรรษา ในที่สุดเมื่อพระองค์ทรงประสบกับปัญหาดังกล่าวที่รุมเร้าพระองค์ พระองค์จึงหนีออกจากพระราชวังเพื่อแสวงหาทางพ้นทุกข์
เป็นเวลา 6 ปี เจ้าชายสิทธัตถะทรงแสวงหาทางพ้นทุกข์ โดยทรงไปศึกษายังสำนักต่าง ๆ ของฤษีสมัยนั้น เช่น อาฬารดาบส กาลามโคตรและอุททกดาบส  รามบุตร แต่ก็ไม่พบคำตอบที่พระองค์ทรงแสวงหา ครั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงประทับนั่งใต้ต้นมะเดื่อ (fig tree – ต้นไม้ตระกูลมะเดื่อ ในภาษาบาลีเรียกว่า ต้นอัสสัตถะ ภายหลังที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้ประทับนั่งตรัสรู้ จึงเรียกว่า โพธิ แปลว่า ต้นไม้เป็นที่ตรัสรู้ ไทยใช้ โพธิ์ หรือ โพ) บำเพ็ญสมาธิจิต จนได้ฌาน 3 คือ 1.  ปุพเพนิวาสนุสติญาณ (ญาณเป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในปางก่อน แปลง่ายว่า ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้)  2.  จุตูปปาตญาณ (ญาณเป็นเครื่องรู้การจุติ (ดับ) และอุบัติ (เกิด) ของสัตว์ทั้งหลาย แปลง่าย ๆ ว่า ญาณที่ทำให้มองเห็นการตายและการเกิดของสัตว์ทั้งหลาย หรือ ตาทิพย์)  และ 3.  อาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้รู้การสิ้นอาสวะแล้ว คือ ญาณที่รู้ว่าสิ้นกิเลสตัณหาที่นอนเนื่องหมักหมมในสันดานแล้ว ญาณเป็นเครื่องกำจัดกิเลสตัณหาที่นอนเนื่องหมักหมมในสันดาน – ญาณข้อนี้แหละที่พระองค์ทรงค้นพบด้วยตนเอง ไม่ได้เรียนจากอาจารย์หรือฤษีชีไพรที่ไหน ญาณ 2 ข้อแรก พระองค์ได้ศึกษามาจากอาฬารดาบสและอุททกดาบสแล้ว ญาณข้อนี้ไม่มีใครค้นพบและประกาศมาก่อน พระพุทธศาสนาจึงแตกต่างจากศาสนาเก่าหรือศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาอื่น ๆ ที่ตรงนี้แหละ  และญาณข้อนี้ก็ไม่ได้จำกัดว่าใครจะค้นพบ ใครก็ได้ที่ค้นพบ ไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เมื่อค้นพบญาณนี้แล้ว ท่านจึงเรียกว่า พุทธ  เจ้าชายสิทธัตถะเป็นคนแรกที่ค้นพบญาณนี้ จึงเรียกว่า พุทธะ หรือพระพุทธเจ้า แม้ในอดีตก็มีผู้ค้นพบญาณนี้มาแล้ว ดังที่พระโคตมะพุทธะได้ตรัสเล่าไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฎก)
            เมื่อตรัสรู้แล้วพระองค์จึงทรงประกาศและวางหลักไว้ เรียกว่า อริยสัจ 4 คือ 1.  ทุกข์ ได้แก่ ปัญหาต่าง ๆ สิ่งขัดข้องต่าง ๆ ในชีวิต เป็นสิ่งที่เราต้องรู้และเข้าใจ เราไม่มีหน้าที่ไปทำอะไรต่อทุกข์หรือไม่มีหน้าที่เป็นทุกข์ แต่มีหน้าที่รู้และเข้าใจทุกข์  2.  สมุทัย  เรียกเต็ม ๆ ว่า ทุกขสมุทัย  เหตุให้ทุกข์เกิด เป็นสิ่งที่เราต้องละหรือกำจัด ความจริงแล้วหมายถึงกิเลสอาสวะทุกอย่างที่มีในจิตใจ แต่ตัวเด่นที่สุดที่ทำให้เกิดทุกข์ คือ ตัณหา (พึงทราบว่า ตัณหาจะเกิดได้ก็ต้องมีกิเลสตัวอื่น ๆ หนุน) เมื่อตัณหาเกิดขึ้น ทุกข์ก็ตามมา เปรียบเหมือนเมื่อไฟเกิดขึ้น ความร้อนและแสงสว่างก็ตามมา ตัณหาดับ ทุกข์ก็ดับ (พึงเข้าใจว่า ตัณหา เป็นแรงจูงใจที่จะสนองตัวเอง มิใช่แรงจูงใจในการสร้างสรรค์ อาจเป็นแรงจูงใจในการทำลายเสียด้วยซ้ำ เช่น เมื่อไม่ได้ตามต้องการก็เกิดโทสะทำให้เกิดการฆ่าการทำลาย เป็นต้น  แรงจูงใจที่ไม่สนองตัวเองก็มี  เช่น ธรรมฉันทะ แรงจูงใจในการจะทำในสิ่งที่ดีงาม แรงจูงใจในการสร้างสรรค์) 3.  นิโรธ เรียกเต็ม ๆ ว่า ทุกขนิโรธ  ภาวะไร้ทุกข์ เป็นสิ่งที่เราจะต้องเข้าถึงหรือไปให้ถึง และ 4.  มรรค  เรียกเต็ม ๆ ว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา แนวทางหรือข้อปฏิบัติให้เข้าถึงภาวะไร้ทุกข์  เป็นสิ่งที่เราจะต้องลงมือทำหรือลงมือปฏิบัติ มีแนวทาง 8 แนวทาง คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ ย่อลง เป็น 3 อย่าง คือ ศีล สมาธิ และปัญญา


การเผยแพร่ของพระพุทธศาสนา
หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ครั้งแรกทรงตัดสินพระทัยว่า จะไม่เผยแพร่คำสอน เพราะคำสอนที่ทรงตรัสรู้ เป็นของลึกซึ้ง มองเห็นได้ยาก อันผู้หมกมุ่นในกามคุณจะพึงเข้าใจได้โดยยาก แต่ทรงมาพิจารณาว่า บุคคลในโลกเปรียบด้วยดอกบัว 3 เหล่า (ในโพธิราชกุมารสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 13 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ข้อที่ 511 ไม่ใช่ดอกบัว 4 เหล่า) คือ ดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำ ดอกบัวเสมอน้ำ และดอกบัวพ้นน้ำ คนบางคนมีกิเลสน้อยก็มี มีกิเลสมากก็มี มีปัญญาน้อยก็มี มีปัญญามากก็มี คนที่มีกิเลสน้อย มีปัญญามากจะเสียประโยชน์  จึงตัดสินพระทัยแสดงธรรม อันดับแรกทรงระลึกถึงอาฬารดาบสและอุททกดาบสผู้เป็นอาจารย์ก่อน แต่ทั้งสองเสียชีวิตแล้ว จึงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ คือ ฤษี 5 ตน ที่เคยอุปัฏฐากช่วงบำเพ็ญทุกกรกิริยา พระปัญจวัคคีย์จึงเป็นพระสาวกชุดแรก และทรงเผยแพร่คำสอนต่อมาเรื่อย ๆ จนมีสาวกจำนวนมาก ชุดแรก 60 รูป จึงส่งไปประกาศศาสนา โดยทรงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราได้พ้นจากบ่วงทั้งปวงทั้งชนิดที่เป็นทิพย์ และชนิดที่เป็นของมนุษย์แล้ว แม้ท่านทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เราทั้งหลายจงพากันจาริกไปยังชนบททั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชนเถิด อย่าไปรวมกันทางเดียวถึงสองรูปเลย จงแสดงธรรมให้งามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะเถิด จงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง สัตว์ทั้งหลายที่มีกิเลสเบาบางนั้นมีอยู่ เพราะโทษที่ไม่ได้ฟังธรรม ย่อมจะเสื่อมจากคุณที่จะพึงได้ถึง ผู้รู้ทั่วถึงธรรมคงจักมีอยู่ แม้ตัวเราก็จะไปยังอุรุเวลาเสนานิคม เพื่อแสดงธรรมเช่นกัน"
            ในช่วงที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ พุทธศาสนารุ่งเรืองมาก จนศาสนาเดิม (คือศาสนาพราหมณ์และศาสนาอื่น ๆ) แทบจะหมดไปจากชมพูทวีป ท่านเปรียบเหมือนกับหิ่งห้อยกับพระอาทิตย์ จนมาถึงพุทธศตวรรษที่ 13 มีปราชญ์ฮินดูชื่อ ศังกราจารย์ได้ปฏิรูปศาสนาโดยแต่งคัมภีร์ปุราณะลดความสำคัญของศาสนาพุทธ และนำหลักปฏิบัติรวมทั้งหลักธรรมของศาสนาพุทธมหายานบางส่วนมาใช้และฟื้นฟูปรับปรุงศาสนาพราหมณ์เป็นให้เป็นศาสนาฮินดูเนื่องจากหลักธรรมส่วนใหญ่ของศาสนาพุทธได้ประยุกต์มาจากศาสนาฮินดู (ความจริงประยุกต์เฉพาะคำศัพท์เท่านั้น แต่ความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง) เมื่อครั้งยังเป็นศาสนาพราหมณ์ กอปรกับสมัยนั้นพระภิกษุในพระพุทธศาสนามีวัตรปฏิบัติเสื่อมลงไปเป็นอันมาก พุทธศาสนาจึงเริ่มเสื่อมจากอินเดีย  เมื่อกองทัพเติร์กมุสลิมบุกเข้าครองอินเดีย พุทธศาสนาจึงหมดสิ้นไปจากอินเดีย แต่ปัจจุบันหลายฝ่ายเริ่มนำเข้าไปเผยแพร่ยังถิ่นกำเนิดอีกครั้ง



แผนที่การเผยแพร่พุทธศาสนายุคแรก
แผนที่เส้นทางการเผยแพร่พุทธศาสนายุคแรก


 
พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่พุทธคยา  อินเดีย
พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่พุทธคยา  อินเดีย



รูปปั้นสิงโตของพระเจ้าอโศก
รูปปั้นสิงโตบนเสาหินของพระเจ้าอโศก

พุทธศาสนาเผยแพร่ออกจากอินเดีย
  เมื่อ พ.ศ. 225 พระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพุทธศาสนา ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา เช่น ทรงสร้างวัด วิหาร พระสถูป พระเจดีย์ หลักศิลาจารึก มหาวิทยาลัยนาลันทา (ซึ่งต่อมากองทัพเติร์กมุสลิมเผาทำลายจนหมดสิ้น) ทรงเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ผนวชขณะที่ยังทรงครองราชย์อยู่ และเลิกการแผ่อำนาจในการปกครอง มาใช้หลักพุทธธรรม (ธรรมราชา) ปกครอง นอกจากนี้ พระเจ้าอโศกมหาราชยังทรงส่งสมณทูตไปเผยแพร่ศาสนา โดยแบ่งเป็น 9 สาย สายที่ 8 มาเผยแพร่ที่ สุวรรณภูมิ โดยพระโสณะและพระอุตระเป็นสมณทูต และพระองค์เป็นผู้จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 3 ณ วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร
       ต่อมาก็โปรดเกล้าให้สร้างบ่อน้ำ ที่พักคนเดินทาง โรงพยาบาล และปลูกต้นไม้ เพื่อจัดสาธารณูปโภคและสาธารณะตามหลักพุทธธรรม ต่อจากนั้นก็เสด็จไปพบสังเวชนียสถาน 4 แห่ง เป็นคนแรก และทรงสถาปนาให้เป็นเป็นสถานที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนในเวลาต่อมา นับว่าพระองค์เป็นอัครศาสนูปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และต่อมาพระองค์ทรงได้สมญานามว่า ธรรมาโศก แปลว่า อโศกผู้ทรงธรรม ทรงครองราชย์ได้ 41 ปี  พุทธศาสนาจึงเริ่มเผยแพร่ออกจากถิ่นกำเนิดครั้งยิ่งใหญ่  (ความจริงอาจมีการนำไปเผยแพร่ก่อนหน้านี้ทุกระยะ ๆ โดยพ่อค้าที่ทำมาค้าขายระหว่างชมพูทวีปและสุวรรณภูมิ)


          พระเจ้าอโศกได้ส่งพระสมณทูตไปยังดินแดนอื่น ๆ ในทวีปเอเชีย สาย 1 ไปยังเกาะลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. 236  สายอื่น ๆ ไปตามเส้นทางการค้าขายด้านทิศตะวันออก คือ พม่า ไทย ในปัจจุบัน และสวนอื่น ๆ ของตะวันออกเฉียงใต้ พระสมณทูตหลายท่านเดินทางไปเผยแพร่ยังด้านทิศเหนือ บริเวณใกล้ภูเขาหิมาลัย (รายละเอียดหาดูได้ในเว็บไซท์ต่าง ๆ)
ทางด้านทิศตะวันตก ก็มีพระสมณทูตเดินทางไปยังเอเชียกลางและเปอร์เซีย ไกลไปจนถึงซีเรียและอียิปต์ ตลอดจนเผยแพร่ไปถึงประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น ตามเส้นทางสายไหม
พุทธศาสนาได้แยกออกเป็นนิกายใหญ่ ๆ 2 นิกาย คือ 1.  เถรวาท (หรือหีนยาน)  นิกายที่รักษาคำสอนหรือพระธรรมวินัยดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าสืบมาจากพระเถระที่ทำสังคายนาครั้งที่ 1 และ 2.  อาจริยวาท (หรือมหายาน) นิกายที่สามารถอนุโลมเปลี่ยนคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ตามกาละและเทศะ โดยอาศัยพุทธพจน์ที่ว่า “ดูกรอานนท์ เมื่อเราล่วงไปแล้ว สงฆ์จำนงอยู่ ก็จงถอนสิกขาบท (วินัย) เล็กน้อยเสียบ้าง” (พระไตรปิฎก เล่มที่ 10 พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ข้อ 141)


พระพุทธรูปปางไสยาสน์
พระพุทธรูปปางไสยาสน์  แกะสลักที่ถ้ำอชันตา อินเดีย