แปลจาก...World History ของ Mcdougal Littel
แปลโดย...ทรงศักดิ์ สายหยุด

การปฏิวัติอเมริกา

การปฏิวัติอเมริกา
นักปรัชญาหลายท่าน เช่น วอลแตร์ (Voltaire) มีความเห็นว่า การปกครองของอังกฤษก้าวหน้ามากที่สุดในทวีปยุโรป  การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปี ค.ศ. 1688 (พ.ศ. 2231)  ได้มอบระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) ให้แก่อังกฤษ  สาระสำคัญ  คือ กฎหมายต่าง ๆ  จำกัด อำนาจของกษัตริย์แห่งอังกฤษ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามุมมองของนักปรัชญาจะมีความเห็นเช่นนั้น แต่อาณานิคมของอังกฤษมากมายในทวีปอเมริกาเหนือที่มีความเจริญรุ่งเรือง ก็ได้กล่าวหาอังกฤษว่ามีการปกครองแบบทรราช  พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากแนวความคิดเรืองปัญญา จึงพยายามโค่นล้มอำนาจที่เข้มแข็งที่สุดในโลกและสร้างชาติของตนเอง

สหราชอาณาจักรกับอาณานิคมในอเมริกา
ตลอดคริสต์ศตวรรษ 16  ถึง 17 อาณานิคมอังกฤษมีอาณาเขตกว้างขวางมากและมีการตั้งถิ่นฐานที่เจริญรุ่งเรืองตามชายฝั่งตะวันออกของทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 3 (George III) เป็นกษัตริย์แห่งสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1760 (พ.ศ. 2303)  อาณานิคมในอเมริกาเหนือของพระองค์ได้เจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด  ประชากรรวมตัวกันเพิ่มสูงขึ้นจากประมาณ 250,000 คน ใน ปี ค.ศ. 1700 (พ.ศ. 2243)  จนถึง 2,150,000 คน ในปี ค.ศ. 1770 (พ.ศ. 2313)   เพิ่มขึ้นเกือบ 9 เท่า  ในด้านเศรษฐกิจ อาณานิคมก็เจริญรุ่งเรืองด้วยการค้าขายกับประเทศหลายประเทศในทวีปยุโรป
ความรู้สึกใหม่ ๆ เกี่ยวกับเอกลักษณ์ ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นในจิตใจของชาวอาณานิคม พร้อมกับการเพิ่มขึ้นของประชากรและความเจริญรุ่งเรือง  ประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 17  ชาวอาณานิคมก็อาศัยอยู่ในอเมริกาเกือบ 150 ปีแล้ว  ในบรรดาอาณานิคม 13 แห่ง แต่ละแห่ง ก็มีการปกครองเป็นของตนเอง และประชาชนต่างคุ้นเคยกับความเป็นอิสระ  ชาวอาณานิคมมองตนเองว่าเป็นชาวอังกฤษน้อยลง   และมองตนเองว่าเป็นชาวเวอร์จิเนียหรือชาวเพนซิลเวเนียมากขึ้น ๆ อย่างไรก็ตามพวกเขายังคงเป็นประชากรอังกฤษและคาดว่าน่าจะปฏิบัติตามกฎหมายอังกฤษ
ในปี ค.ศ. 1651 (พ.ศ. 2494)  รัฐสภาอังกฤษได้ผ่านกฎหมายการค้าที่เรียกว่า พระราชบัญญัติการเดินเรือ (Navigation Act) พระราชบัญญัตินี้และกฎหมายลูกเกี่ยวกับการค้าขาย ป้องกันไม่ให้ชาวอาณานิคมขายผลิตภัณฑ์ที่มีค่ามากที่สุดไปให้กับประเทศใด ๆ ยกเว้นสหราชอาณาจักร นอกจากนี้ ชาวอาณานิคมต้องจ่ายภาษีสูงให้กับสินค้าฝรั่งเศสและดัตช์ที่สั่งเข้ามา อย่างไรก็ตาม นโยบายของสหราชอาณาจักรมีประโยชน์ต่อทั้งอาณานิคมและมาตุภูมิ สหราชอาณาจักรได้ซื้อวัตถุดิบของอเมริกันเนื่องจากราคาต่ำมาผลิตเป็นสินค้าส่งกลับไปขายยังอาณานิคมนั้น และแม้จะมีข้อจำกัดทางการค้าขายกับอังกฤษหลายอย่าง พ่อค้าชาวอาณานิคมก็ยังประสบความสำเร็จ  อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้า ความสามัคคีกลมเกลียวกันฉันท์พี่น้องทำนองนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลง
ชาวอเมริกันได้รับอิสรภาพ
ในปี ค.ศ. 1754 (พ.ศ. 2297)  สงครามได้ปะทุขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส  ซึ่งในช่วงนั้น ฝรั่งเศส ยังล่าอาณานิคมในตอนเหนือของทวีปอเมริกา ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 16 ถึง 17 ความขัดแย้งนั้น เรียกกันว่า สงครามฝรั่งเศสกับอินเดียนแดง (French and Indian War) (ชื่อเกิดจากความจริงที่ว่าฝรั่งเศสเกณฑ์ชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองจำนวนมากไปต่อสู้ข้างตนเอง)  การสู้รบดำเนินไปจนถึงปี ค.ศ. 1763 (พ.ศ. 2306) เมื่อสหราชอาณาจักรและชาวอาณานิคมได้รับชัยชนะและยึดดินแดนของฝรั่งเศสในทวีปอเมริกาเหนือเกือบทั้งหมด


อย่างไรก็ตาม ชัยชนะครั้งนั้น ทำให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น ระหว่างสหราชอาณาจักรกับชาวอาณานิคม  สหราชอาณาจักรได้ก่อหนี้ก้อนใหญ่ เพื่อสู้รบสงคราม  เพราะชาวอาณานิคมอเมริกันได้รับประโยชน์จากชัยชนะของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักรคาดหวังว่า ชาวอาณานิคมจะช่วยจ่ายค่าใช้จ่ายสงคราม ในปี ค.ศ. 1765 (พ.ศ. 2308) รัฐสภาจึงผ่านการตราพระราชบัญญัติอากรแสตมป์ (Stamp Act – ภาษีแสตมป์)   ในกฎหมายนี้ ชาวอาณานิคมต้องจ่ายภาษีที่ต้องมีตราประทับของทางการ เมื่อแสดงความคิดเห็น การกระทำ  หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์อื่น ๆ      
ชาวอาณานิคมอเมริกันถูกทำร้ายอย่างรุนแรง  พวกเขาไม่เคยจ่ายภาษีโดยตรงให้กับรัฐบาลอังกฤษมาก่อน นักกฎหมายอาณานิคม ถกเถียงกัน ว่า ภาษีแสตมป์ละเมิดสิทธิทางธรรมชาติของชาวอาณานิคมและพวกเขาก็กล่าวหารัฐบาล เรื่อง "ระบบการจัดเก็บภาษีโดยปราศจากตัวแทน"  ในสหราชอาณาจักร ประชากรยินยอมให้เก็บภาษีผ่านตัวแทนในรัฐสภา  แต่ว่าชาวอาณานิคมไม่มีตัวแทนในรัฐสภา ดังนั้นพวกเขาจึงโต้เถียงได้ว่าไม่สมควรจะถูกเก็บภาษี

การมุ่งร้ายเพิ่มขึ้น จึงนำไปสู่สงคราม
ตลอดระยะเวลา 1 ทศวรรษถัดมา มีการมุ่งร้ายกันระหว่างทั้งสองฝ่ายเพิ่มขึ้น ผู้นำอาณานิคมบางคนชื่นชอบความเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร  ในปี ค.ศ. 1773 (พ.ศ. 2316) เพื่อประท้วงภาษีนำเข้าใบชา กลุ่มของชาวอาณานิคมได้เทใบชาของอังกฤษเป็นจำนวนมากลงไปในอ่าวบอสตัน พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงกริ้ว "กรณีงานเลี้ยงน้ำชาที่บอสตัน - Boston Tea Party" จึงทรงบัญชาการให้กองทัพเรืออังกฤษปิดท่าเรือบอสตัน
กลยุทธ์ที่รุนแรงดังกล่าวจากอังกฤษได้สร้างศัตรูของชาวอาณานิคมในระดับปานกลางจำนวนมาก ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1774 (พ.ศ. 2317)  ตัวแทนจากอาณานิคมทุก ๆ แห่ง ยกเว้นจอร์เจีย ได้รวมตัวกันในฟิลาเดลเฟีย เพื่อจัดตั้งการประชุมสภาทวีป ครั้งที่ 1 (First Continental Congress) กลุ่มนี้ ได้คัดค้านการเจรจาบอสตัน เมื่อกษัตริย์ทรงสนพระทัยในการร้องทุกข์ของพวกเขาเพียงเล็กน้อย  หลายอาณานิคมจึงได้ตัดสินใจจัดการประชุมสภาทวีปครั้งที่ 2 (Second Continental Congress) เพื่ออภิปรายในการเคลื่อนไหวครั้งต่อไป
เมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1775 (พ.ศ. 2318) ทหารอังกฤษและทหารอาสาอเมริกันได้ยิงปะทะกัน ณ พื้นที่สีเขียวของหมู่บ้าน ในเมืองเล็กซิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ การสู้รบได้ขยายไปใกล้เมืองคองคอร์ด  การประชุมสภาทวีปครั้งที่ 2 ได้ออกเสียงสนับสนุนกองทัพและจัดระเบียบการสู้รบภายใต้การบัญชาการของชาวเวอร์จิเนีย ชื่อ จอร์จ  วอชิงตัน (George Washington) การปฏิวัติอเมริกาก็ได้เริ่มขึ้น


จอร์จ  วอชิงตัน

 จอร์จ  วอชิงตัน (George Washington,  ค.ศ. 1732 - 1799)
        เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1732 (พ.ศ. 2275) เป็นลูกคนแรกของ ออกัสติน วอชิงตัน และภรรยาคนที่สองของเขา แมรี่ บอล วอชิงตัน ที่โคโลเนียล บีช ในเวสต์มอแลนด์ เคาท์ตี้ เวอร์จิเนีย ครอบครัววอชิงตันย้ายไปอยู่ที่เฟอร์รี่ฟาร์มเมื่อจอร์จอายุได้ 6 ขวบ จอร์จเรียนหนังสืออยู่ที่บ้านโดยพ่อและพีชายคนโตเป็นผู้สอนหนังสือให้ เชื้อสายของเขามาจากเมืองซัลเกรฟ ประเทศอังกฤษ ปู่ทวดของเขา จอห์น วอชิงตัน ย้ายมาอาศัยที่เวอร์จิเนียในปี ค.ศ. 1657 (พ.ศ. 2200)  การปลูกยาสูบเป็นสินค้าในเวอร์จิเนียสามารถวัดได้โดยจำนวนทาสที่เอามาใช้แรงงานปลูกยาสูบ เมื่อวอชิงตันเกิด จำนวนประชากรองรัฐอาณานิคมเป็นคนผิวดำ 50 เปอร์เซ็นต์ ชาวแอฟริกันและอเมริกันแอฟริกันเกือบทั้งหมดถูกบังคับให้เป็นทาส
สิ่งที่ทำคุณประโยชน์
        เป็นผู้นำทางทหารและการเมืองที่โดดเด่นของสหรัฐอเมริกาที่เพิ่งก่อตั้งขึ้น ระหว่าง ค.ศ. 1775 ถึง 1799 เขานำสหรัฐจนได้รับชัยชนะเหนือบริเตนใหญ่ในสงครามปฏิวัติอเมริกัน ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพภาคพื้นทวีปใน ค.ศ.1775-1783 และรับผิดชอบการร่างรัฐธรรมนูญใน ค.ศ. 1787 เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ดำรงตำแหน่ง ค.ศ. 1789-1797 วอชิงตันเป็นผู้นำการสร้างรัฐบาลแห่งชาติที่เข้มแข็งและมีการคลังที่ดี ซึ่งวางตนเป็นกลางในสงครามที่ปะทุขึ้นในยุโรป ปราบปรามกบฏและได้รับการยอมรับจากชนอเมริกันทุกประเภท รูปแบบความเป็นผู้นำของเขาได้กลายมาเป็นระเบียบพิธีของรัฐบาลซึ่งปฏิบัติสืบต่อกันมานับแต่นั้น อาทิ การใช้ระบบคณะรัฐมนตรีและการปราศรัยในโอกาสเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ วอชิงตันได้รับการยกย่องทั่วไปว่าเป็น บิดาแห่งประเทศของเขา

ทอมัส  เจฟเฟอร์สัน


ทอมัส  เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson, ค.ศ. 1743 – 1826)

ทอมัส  เจฟเฟอร์สัน ชาวรัฐเวอร์จิเนีย ผู้เขียนคำประกาศอิสรภาพ เป็นผู้ที่นิยมแนวความคิดแบบเรืองปัญญาอย่างแท้จริง  ในฐานะที่เป็นนักเขียนและรัฐบุรุษ  เขาได้ให้การสนับสนุนเสรีภาพในการการพูด เสรีภาพทางศาสนาและ สิทธิของบุคคล   ในขณะเดียวกัน เขาก็เป็นเจ้าของทาสเช่นกัน 
เจฟเฟอร์สันเป็นบุคคลที่มีความสามารถหลายอย่าง เขาเป็นนักประดิษฐ์และเป็นสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ของอเมริกาในช่วงต้นคนหนึ่ง เขาออกแบบอาคารรัฐสภาแห่งรัฐเวอร์จิเนีย ในเมืองริชมอนด์และอาคารหลายหลังให้กับมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย  ในบรรดาความสำเร็จทั้งหมด เจฟเฟอร์สันต้องการจะจดมากที่สุดเพีง 3 อย่าง คือ การเป็นผู้เขียนคำประกาศอิสรภาพ  ผู้เขียนอนุสาวรีย์แห่งเวอร์จิเนียว่าเสรีภาพทางศาสนา (หรืออนุสาวรีย์แห่งเสรีภาพทางศาสนาแห่งเวอร์จิเนีย) และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย









ภาพบนกล่องยานัตถุ์ของฝรั่งเศสนี้ มีภาพ (จากซ้ายไปขวา)
วอลแตร์  รูโซ และ เบนจามิน  แฟรงคลิน รัฐบุรุษ แห่งอาณานิคม
แผนที่ทวีปอเมริกาเหนือ ปี ค.ศ. 1783


อิทธิพลของแนวความคิดยุคเรืองปัญญา
ผู้นำอาณานิคมใช้แนวความคิดเรืองปัญญามาอธิบายความหมายของอิสรภาพ  ชาวอาณานิคมได้เรียกร้องสิทธิทางการเมืองในฐานะเป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักรเหมือนกัน แต่พระเจ้าจอร์จที่ 3 ทรงปฏิเสธหัวชนฝา ดังนั้น ชาวอาณานิคมจึงเป็นผู้มีความถูกต้องในการต่อต้านเผด็จการของผู้ทำลายข้อสัญญาทางสังคม
ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1776  (พ.ศ. 2319)  การประชุมสภาทวีปครั้งที่ 2 ก็ได้ตีพิมพ์คำประกาศอิสรภาพ (Declaration of Independence) บทความนี้เขียนโดยผู้นำทางการเมือง ชื่อ ทอมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson) ได้ยึดมั่นในแนวความคิดของจอห์น  ล็อกและแนวความคิดยุคเรืองปัญญา  การประกาศนั้น สะท้อนให้เห็นแนวความคิดเหล่านี้ในถ้อยแถลงซึ่งเต็มไปด้วยความโน้มน้าวในการเรียกร้องสิทธิตามธรรมชาติ  คำประกาศ เริ่มต้นว่า "เราถือความจริงต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในตัวเอง นั่นคือ มนุษย์ทุกคนถูกสร้างขึ้นมาอย่างเท่าเทียมกัน และพระผู้สร้างได้มอบสิทธิบางประการที่จะเพิกถอนมิได้ไว้ให้แก่มนุษย์ ในบรรดาสิทธิเหล่านั้น ได้แก่ ชีวิต เสรีภาพ และการแสวงหาความสุข - We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty, and the pursuit of happiness."
เนื่องจากจอห์น  ล็อกถือสิทธิว่า ผู้คนมีสิทธิที่จะต่อต้านผู้ปกครองที่ไม่ยุติธรรม คำประกาศอิสรภาพ จึงรวมถึงรายการคำเหยียดหยามอันยาวเหยียดของพระเจ้าจอร์จที่ 3  เอกสารนั้นลงท้ายด้วยการประกาศแยกอาณานิคมออกจากสหราชอาณาจักร  คำประกาศ บอกว่า “อาณานิคมนี้ ไม่ขึ้นต่อบัลลังก์แห่งสหราชอาณาจักรอีกต่อไป - The colonies are absolved from all allegiance to the British crown.”
ความสำเร็จเพื่อชาวอาณานิคม  สหราชอาณาจักรไม่ยอมให้อาณานิคมเป็นอิสรภาพโดยไม่มีการสู้รบ  ในไม่ช้า หลังจากตีพิมพ์คำประกาศอิสรภาพ ทั้งสองข้างก็เข้าห้ำหั่นทำสงครามกัน ในเบื้องต้น ชาวอาณานิคมดูเหมือนจะถูกกำหนดชะตาให้พ่ายแพ้ในทันทีทันใด กองทัพสามัญชนที่ถูกฝึกมาอย่างย่ำแย่ของจอร์จ วอชิงตัน เผชิญหน้ากับกองทัพของประเทศมหาอำนาจของโลก  แต่สุดท้าย ชาวอเมริกันก็ได้รับชัยชนะในสงครามประกาศอิสรภาพ
มีหลายเหตุผล ที่อธิบายถึงความสำเร็จของชาวอาณานิคม  ประการแรก แรงจูงใจในการสู้รบของชาวอเมริกัน แข็งแกร่งมากกว่าชาวอังกฤษ เนื่องจากเป็นกองทัพต่อสู้เพื่อป้องกันบ้านเกิดเมืองนอน  ประการที่สอง  แม่ทัพของอังกฤษอวดดีจนเกินไป จึงทำความผิดพลาดหลายประการ  ประการที่สาม  ช่วงเวลาก็เข้าข้างชาวอเมริกัน   อังกฤษ (หรือสหราชอาณาจักร) น่าจะชนะสงครามครั้งต่อ ๆ มา แต่ก็ยังพ่ายแพ้ การสู้รบสงครามในทะเลอันไกลพ้น ไกลจากลอนดอนถึง 3,000 ไมล์ (ประมาณ 4,800 กิโลเมตร) จึงมีค่าใช้จ่ายอย่างมากมาย  สองสามปีผ่านไป ประชากรอังกฤษเบื่อหน่ายการสู้รบจึงเรียกร้องหาสันติภาพ
ในที่สุด ชาวอเมริกันก็ไม่ได้สู้รบอย่างโดดเดี่ยว  พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แห่งฝรั่งเศส (Louis XVI of France) มีความเห็นใจเพียงเล็กน้อยในแนวความคิดการปฏิวัติอเมริกา  อย่างไรก็ตาม พระองค์ก็ยังกระตือรือร้นที่จะทำให้คู่แข่งของฝรั่งเศส คือ สหราชอาณาจักร อ่อนแอลง ฝรั่งเศสจึงตัดสินใจเข้าสู่สงครามในปี ค.ศ.  1778 (พ.ศ. 2321)  ในปี ค.ศ. 1781 (พ.ศ. 2324) กองทัพแนวร่วมของอเมริกา ประมาณ 9,500 คน และฝรั่งเศส 7,800 คน ได้โอบล้อมกองทัพสหราชอาณาจักร ซึ่งบัญชาการโดย ลอร์ด คอร์นเวลลิส (Lord Cornwallis) ใกล้ยอร์กทาวน์ รัฐเวอร์จิเนีย  ลอร์ดคอร์นเวลลิส ไม่สามารถจะหลบหนีได้ จึงยอมจำนนในที่สุด ชาวอเมริกันทำให้โลกตกตะลึงและได้รับอิสรภาพ

ชาวอเมริกา ก่อตั้งสาธารณรัฐ
ไม่นานหลังการประกาศเอกราช  รัฐที่เป็นเอกเทศ จำนวน 13 รัฐ ตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลแห่งชาติ เมื่อได้รับชัยชนะอย่างแน่นอนแล้ว รัฐทั้ง 13 รัฐ จึงเห็นด้วยที่จะมีรัฐธรรมนูญ ในปี ค.ศ. 1781 (พ.ศ. 2324)  แผนการของรัฐบาล เรียกว่า บทบัญญัติว่าด้วยสมาพันธรัฐ (the Articles of Confederation)  บทบัญญัติได้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นสาธารณรัฐ ซึ่งมีรัฐบาลที่ประชาชนปกครองผ่านผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้ง

รัฐบาลแห่งชาติอ่อนแอ  เพื่อการปกป้องอำนาจของตนเอง รัฐ 13 รัฐ จึงได้สร้างสมาพันธรัฐแบบหลวม ๆ ซึ่งพวกเขายึดครองอำนาจเป็นส่วนมาก  ดังนั้น บทบัญญัติว่าด้วยสมาพันธรัฐ จึงจงใจสร้างรัฐบาลแห่งชาติที่อ่อนแอ ไม่มีคณะผู้บริหารหรือตุลาการ แต่บทบัญญัติได้ก่อตั้งสภาของรัฐเพียงแห่งเดียว คือ สภาคองเกรส ขึ้นมาแทน  รัฐแต่ละรัฐมีเสียงหนึ่งเสียงในสภาคองเกรส โดยไม่คำนึงถึงขนาด สภาคองเกรสสามารถประกาศสงคราม เข้าสู่สนธิสัญญาและทำเหรียญกษาปณ์ได้  อย่างไรก็ตาม สภานั้นไม่มีอำนาจเก็บรวบรวมภาษีหรือควบคุมการค้า การผ่านกฎหมายใหม่ก็ยากลำบาก เพราะกฎหมายจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากรัฐ 9 รัฐ ในบรรดารัฐ 13 รัฐ

ในไม่ช้า ข้อจำกัดเหล่านี้ในรัฐบาลแห่งชาติก็ก่อปัญหาเป็นอันมาก แม้ว่ารัฐบาลแห่งชาติใหม่จำเป็นต้องใช้เงินในการดำเนินงาน ก็อาจเพียงร้องขอการสนับสนุนจากรัฐเท่านั้น ทหารผ่านศึกสงครามปฏิวัติที่เกิดความขุ่นเคือง ก็บ่นอย่างขมขื่นว่าสภาคองเกรสยังคงเป็นหนี้เงินจ่ายคืนเพื่อการบริการของพวกเขา ในขณะเดียวกัน หลายรัฐก็ตีพิมพ์เงินของตัวเอง รัฐบางรัฐขึ้นภาษีสินค้าที่นำมาจากรัฐใกล้เคียงด้วยซ้ำ

รัฐธรรมนูญใหม่  ในที่สุด ผู้นำอาณานิคม ตระหนักถึงความต้องการรัฐบาลแห่งชาติที่เข้มแข็ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787 (พ.ศ. 2330)  สภาคองเกรส จึงอนุมัติสภาร่างรัฐธรรมนูญ (The Constitutional Convention) เพื่อการแก้ไขบทบัญญัติว่าด้วยสมาพันธรัฐ  สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดขึ้นครั้งแรก ในวันที่ 25 พฤษภาคม 1787 (พ.ศ. 2330)  ผู้แทน จำนวน 55 คน คือ รัฐบุรุษผู้มีประสบการณ์ ซึ่งมีความคุ้นเคยกับทฤษฎีทางการเมือง ของ ล็อก มงแต็สกีเยอ และ รูโซ่ (Locke, Montesquieu, and Rousseau)
แม้ว่าผู้แทนจะมีส่วนร่วมในแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการปกครอง แต่ พวกเขาก็ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่จะนำแนวความคิดเหล่านั้นออกมาใช้ในทันทันใด เป็นเวลาเกือบ 4 เดือน ที่ผู้แทนได้ถกเถียงประเด็นสำคัญกัน คือ ใครสมควรจะเป็นผู้แทนในสภาคองเกรส? ในแต่ละรัฐควรจะมีผู้แทนกี่คน?  ความรอบคอบของเหล่าผู้แทน ไม่เพียงแต่สร้างความปรองดองเท่านั้น แต่ยังสร้างแนวทางการปกครองแบบใหม่อีกด้วย  ด้วยการใช้แนวความคิดเรืองปัญญาทางการเมือง เหล่าผู้แทน จึงได้สร้างระบบการปกครองแบบใหม่ขึ้น
ระบบสหพันธรัฐ (The Federal System) ผู้แทนเหล่านั้น คล้ายกับมงแต็สกีเยอ  ไม่ไว้วางใจการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ซึ่งปกครองโดยบุคคลคนเดียวหรือกลุ่ม ๆ เดียว  ดังนั้น พวกเขาจึงแบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ระบบนี้ มีการตรวจสอบและถ่วงดุลกันโดยธรรมชาติ ซึ่งแต่ละฝ่ายจะตรวจสอบการกระทำของอีก 2 ฝ่าย  ยกตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดีมีอำนาจที่จะยับยั้งตัวบทกฎหมายซึ่งผ่านโดยสภาคองเกรส  อย่างไรก็ตาม สภาคองเกรสก็สามารถยกเลิกการยับยั้งของประธานาธิบดี ด้วยการอนุมัติของสมาชิกจำนวน 2 ใน 3 ได้
แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะสร้างรัฐบาลกลางที่แข็งแกร่ง ก็ไม่ได้กำจัดการปกครองท้องถิ่น  แต่รัฐธรรมนูญได้จัดตั้งระบบสหพันธรัฐ ซึ่งแบ่งอำนาจกันระหว่างรัฐบาลแห่งชาติและรัฐบาลแห่งรัฐแทน
บัญญัติสิทธิ (The Bill of Rights)  ผู้แทนลงนามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อวันที่ 17 เดือนกันยายน 1787 (พ.ศ. 2330)  อย่างไรก็ตาม  เพื่อจะให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมาย ต้องได้รับอนุมัติจากการประชุม อย่างน้อย จำนวน 9 รัฐ จาก รัฐ จำนวน 13 รัฐ การประชุมเหล่านี้ต้องมีความถูกต้องชัดเจนด้วยการอภิปรายที่ชาญฉลาด ผู้สนับสนุนรัฐธรรมนูญ เรียกว่า  ผู้สนับสนุนการรวมกันขึ้นเป็นสหพันธ์ (Federalists) พวกเขาได้อภิปรายในผลงานที่มีชื่อของตนเอง คือ เอกสารเฟอเดอริสต์ (Federalist Papers) ซึ่งการปกครองแบบใหม่นี้จะให้ความสมดุลระหว่างอำนาจของชาติและของรัฐมากกว่า ฝ่ายตรงข้ามของพวกเขา คือ พวกต่อต้านการรวมกันขึ้นเป็นสหพันธ์ (Antifederalists)  กลัวว่า รัฐธรรมนูญจะให้อำนาจแก่รัฐบาลกลางมากเกินไป พวกเขาจึงยังต้องการบัญญัติสิทธิ (bill of rights) เพื่อปกป้องสิทธิส่วนบุคคล
เพื่อให้ได้รับการสนับสนุน ผู้สนับสนุนการรวมกันขึ้นเป็นสหพันธ์ จึงให้สัญญาว่าจะเพิ่มบัญญัติสิทธิเข้าไปในรัฐธรรมนูญ  สัญญานี้ ได้แผ้วถางทางเพื่อการพิจารณาอนุมัติ สภาคองเกรสได้เพิ่มบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 10 บท ที่รู้จักกันว่า บัญญัติสิทธิ (bill of rights)  บทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเหล่านี้ ได้ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น เสรีภาพในการพูด การตีพิมพ์ การชุมนุม และการนับถือศาสนา สิทธิเหล่านี้จำนวนมากได้รับการสนับสนุนจาก วอลแตร์ รูโซ และล็อค
        รัฐธรรมนูญและบัญญัติสิทธิพื้นฐานของพลเมืองเป็นจุดเปลี่ยนแปลงความคิดของประชาชนเกี่ยวกับการปกครอง เอกสารทั้งสองได้ใส่แนวความคิดแบบสุขนิยม ว่า เหตุผลและการปฏิรูปสามารถอยู่เหนือกว่าได้ และว่า ความก้าวหน้าเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ลัทธิสุขนิยมดังกล่าว ได้แพร่กระจายข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก  อย่างไรก็ตาม กษัตริย์และชนชั้นอภิสิทธิ์ ก็ไม่ได้สละอำนาจและตำแหน่งอย่างง่ายดาย 







การประกาศอิสรภาพของอเมริกา
การประกาศอิสรภาพของอเมริกา
 
บัญญัติสิทธิ (The Bill of Rights)
บัญญัติสิทธิ (The Bill of Rights)
 
จอร์จ  วอชิงตัน  ผู้นำชาวอาณานิคมต่อสู้กับสหราชอาณาจักร
จอร์จ  วอชิงตัน  นำชาวอาณานิคมต่อสู้กับสหราชอาณาจักร