แปลจาก...World History ของ Mcdougal Littel
แปลโดย...ทรงศักดิ์ สายหยุด

กำเนิดศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

กำเนิดศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
ชาวอินโด-ยุโรเปียนส่วนมาก เป็นชนเผ่าเร่ร่อน  อาศัยอยู่เป็นกลุ่มครอบครัว หรือเผ่าพันธุ์  เลี้ยงวัว แกะและแพะ  เป็นนักรบที่ขี่รถม้าศึกขับเคลื่อนด้วยม้า และต่อสู้ด้วยธนูและลูกศรคันยาวและขวานทองแดง

การย้ายถิ่นฐานของชาวอินโด-ยุโรเปียน  ประมาณ 2,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราช มีบางสิ่งได้ขับไล่ชาวอินโด-ยุโรเปียนออกจากบ้านเกิดเมืองโดยการโยกย้ายเป็นลูกคลื่น  นักประวัติศาสตร์ไม่ทราบว่าภัยแล้ง โรคระบาด    หรือการบุกรุกที่ทำให้พวกเขาอพยพ   กลุ่มต่าง ๆ ได้ย้ายไปภูมิภาคที่แตกต่างกัน  ชาวฮิตไทต์ (Hittites) ได้เดินทางไปเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และชาวอินโด-ยุโรเปียนพวกอื่น ๆ  อีกหลายพวก ได้ตั้งรกรากอยู่ในบางส่วนของยุโรป

การย้ายถิ่นฐานของชาวอารยัน  ในระหว่าง 1,500 ปี ก่อนคริสต์ศักราช  ชาวอารยัน (Aryans) ซึ่งเป็นกลุ่มของชาวอินโด-ยุโรเปียน เชื่อกันว่าอพยพไปอยู่ชมพูทวี  เมื่อเปรียบเทียบกับชาวฮะรัปปันที่อยู่ในเมือง  ชาวอารยันจะเป็นคนเลี้ยงปศุสัตว์อาศัยอยู่ในบ้านที่เรียบง่าย  พูดภาษาอินโด-ยุโรเปียน ที่เรียกว่า ภาษาสันสกฤต
นักรบชาวอารยันในรถม้าศึก จะพิชิตเมืองที่มีกำแพงและบังคับชาวฮะรัปปันให้หนีไปทางใต้ได้หรือ ?  เป็นเวลาแรมปี หนังสือประวัติศาสตร์บอกเล่าเรื่องราวนั้น     แต่งานวิจัยใหม่ ๆ  ชี้ให้เห็นเรื่องราวที่แตกต่างกัน  สองร้อยปีก่อนที่ชาวอารยันจะเข้ามา เมืองฮะรัปปันกลายเป็นซากปรักหักพัง  การล่มสลายนี้อาจเกิดจากแผ่นดินไหวและน้ำท่วม

การเปลี่ยนแปลงเพื่อการดำรงชีวิตของชาวอินเดีย 
ชาวอารยันค่อย ๆ เข้าสู่อินเดีย  พวกเขาปฏิบัติศาสนาเพื่อชักจูงชาวดราวิเดรียน (Dravidians - ทัสยุ ทมิฬ ชนพื้นเมืองเดิมในอินเดีย) ซึ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในอินเดียในขณะที่พวกเขาเดินทางมาถึง เป็นผลให้ศาสนาและภาษาอารยันแพร่กระจาย ในทางกลับกัน พวกดราวิเดียนก็สอนพวกอารยันเกี่ยวกับชีวิตชาวเมือง เพราะการปฏิสัมพันธ์เหล่านี้ อินเดียพัฒนาวัฒนธรรมที่สลับซับซ้อน ผสมผสาน

โครงสร้างทางสังคม  สังคมอารยันแบ่งเป็นวรรณะ คือ นักรบ (กษัตริย์) นักบวช (พราหมณ์) และไพร่ (ศูทร คงรวมวรรณะแพศย์ด้วย = พ่อค้า)   ในขณะที่สังคมอินเดียวิวัฒนาการซับซ้อนมากขึ้น วรรณะเหล่านี้ได้พัฒนาไปสู่ระบบซึ่งต่อมาเรียกว่า ระบบวรรณะ วรรณะเป็นระดับชนชั้นทางสังคมที่คนเป็นโดยกำเนิด วรรณะเหล่านี้เกี่ยวข้องกับงานที่แตกต่างกัน กลุ่มชนเหล่านี้จัดเป็นสี่ประเภทอย่างแพร่หลาย พราหมณ์ เป็น นักบวช นักวิชาการและครูผู้สอน กษัตริย์ (Ksatriya) เป็นชนชั้นปกครอง ขุนนางและนักรบ แพศย์หรือไวศยะ (Vaisya) เป็นนายธนาคาร เกษตรกรและพ่อค้า ศูทร (Sudra) เป็นช่างฝีมือและแรงงาน

หลายศตวรรษต่อมา  กลุ่มชนอีกกลุ่มหนึ่ง มีวิวัฒนาการซึ่งถือกันว่าอยู่ด้านล่างกลุ่มอื่น ๆ ทั้งหมด  กลุ่มนี้เรียกกันว่า จัณฑาล (Untouchable – ไม่สามารถแตะต้องได้) พวกเขาทำงานที่ไม่มีใครต้องการ เช่น การกำจัดซากศพ

ความเชื่อของชาวอารยันและศาสนาพราหมณ์  ศาสนายุคแรกของชาวอารยัน ปัจจุบัน เรียกว่า ศาสนาพราหมณ์ ตามชื่อของนักบวชหรือพราหมณ์ชาวอารยัน  ชาวอารยันบูชาเทพตามธรรมชาติหลากหลาย  พวกพราหมณ์ทำการบูชายัญให้แก่พวกเทพเหล่านั้น โดยนำสัตว์หลายชนิดไปบูชาไฟศักดิ์สิทธิ์ เมื่อเวลาผ่านไป พิธีกรรม ก็สลับซับซ้อนมากขึ้น ๆ  บางพิธีกรรมกินเวลานานเป็นวันหรือแม้กระทั่งเป็นเดือน  พิธีกรรมของศาสนาอารยันและเพลงสวดหลากหลาย เพื่อบูชาเทพของพวกเขาพบได้ในคัมภีร์ภาษาสันสกฤตโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า พระเวท (Vedas)   พระเวท คือ คัมภีร์ที่เก็บรวบรวมบทสวดมนต์และคำแนะนำสำหรับพิธีกรรม สี่คัมภีร์   คัมภีร์ที่สำคัญที่สุด คือ ฤคเวท
เมื่อเวลาผ่านไป  ชาวอินเดียเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับโลก ว่า โลกเกิดมีได้อย่างไร  คำถามเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความคิดทางศาสนาเกี่ยวกับเวลา  การเปลี่ยนแปลงครั้งหนึ่งเป็นความเชื่อที่แพร่หลายมาก คือ เทพทุกองค์ เป็นเครื่องหมายแสดงออกของเทพองค์หนึ่งอย่างแท้จริง
          ต่อมาชาวอินเดีย ได้เขียนประวัติศาสตร์โบราณของพวกเขาในงานดังกล่าว  คือ มหาภารตะ (Mahabharata) บทกวีมหากาพย์ที่บอกเล่าตำนานใหม่หลายตำนาน  ภควัทคีตา (Bhagavad Gita) เป็นส่วนหนึ่งของมหาภารตะ (Mahabharata)







 
ฮินดูกูช
เทือกเขาฮินดูกูช (Hindu Kush) ทอดเป็นแนวเขตแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป 


 
เส้นทางอพยพของชาวอารยัน
เส้นทางอพยพของชาวอารยัน



พระศิวะ
พระศิวะ เป็นเทพเจ้าที่สำคัญองค์หนึ่งของศาสนาฮินดู
รูปปั้นนี้ พระศิวะกำลังร่ายรำบนหลังปิศาจแห่งโมหะ


ศาสนาฮินดู : ศาสนาแห่งอินเดีย
ภควัทคีตาเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญของศาสนาฮินดู  ศาสนาฮินดูเป็นชื่อใหม่ของศาสนาที่สำคัญของอินเดีย ซึ่งพัฒนามาจากศาสนาพราหมณ์ โดยนำเอาวิธีการของศาสนาพุทธมาใช้ เลียนแบบพระรัตนตรัย เดิมศาสนาพราหมณ์มีเทพองค์เดียว คือ พระพรหม แต่ได้สร้างขึ้นมาอีก 2 องค์ เป็นตรีมูรติ คือ พระวิษณุ (พระนารายณ์) และ พระศิวะ (หรือพระอิศวร) และมีการสร้างวัดเลียนแบบพุทธ เดิมทีพราหมณ์ไม่มีวัดมีแต่ศาลเจ้า แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นฮินดู (ฮินดูแปลว่า ศาสนาของอินเดีย หมายถึงทั้งพราหมณ์และพุทธ สังเกตว่า พราหมณ์จะเอาพระพุทธเจ้าเป็นปางหนึ่งของพระวิษณุ คือ ปางที่ 9 พุทธาวตาร หรือปางมายา อวตารลงมาเป็นพระพุทธเจ้า เพื่อลวง พวกอสูรให้ไปนับถือพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่า ปางมายา)

เทพหลายองค์ (พหุเทพ)  ชาวฮินดูบูชาเทพหลายองค์ แม้ว่าพวกเขาจะเชื่อว่าในเทพหลายองค์ ชาวฮินดูยังตระหนักถึงเทพสูงสุดหรืออำนาจบันดาลชีวิตองค์เดียว  ชาวฮินดูยังนับถือเทพองค์อื่น ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของเทพสากลองค์เดียว เทพสามองค์ที่สำคัญที่สุดในบรรดาเทพอื่น ๆ คือ พระพรหม ผู้สร้าง; พระนารายณ์ ผู้พิทักษ์; และพระอิศวร (พระศิวะ) ผู้ทำลาย (พระอิศวรหรือพระศิวะ ทำลายเพื่อที่จะสร้างโลกขึ้นมาใหม่)

ชีวิตจำนวนมาก  ชาวฮินดูเชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งหมายความว่าแต่ละคนมีชีวิตจำนวนมาก  สิ่งที่คนทำในชีวิตแต่ละชีวิตกำหนดสิ่งที่เขาหรือหล่อนจะเป็นในชีวิตต่อไป  ตามความเชื่อที่เรียกว่า กรรม (karma) ในศาสนาฮินดู  ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อที่ว่า ผลของการการกระทำของบุคคลในชีวิตนี้กำหนดชะตากรรมของเขาหรือหล่อนในชีวิตต่อไป (แตกต่างจากกรรมในศาสนาพุทธ ชาวไทยส่วนมากจะเชื่อกรรมเหมือนกับชาวฮินดู กรรมในศาสนาพุทธ หมายถึง เครื่องปรุงแต่งจิต (สังขาร) ที่มีเจตนาเป็นตัวนำ ไม่ได้กำหนดชีวิตคนมาแต่กำเนิดตายตัว คือ กรรมในศาสนาพุทธแก้ไขได้ ทำใหม่ได้ กรรมชั่ว จะหยุดให้ผลได้ด้วยการไม่ทำชั่วและทำดีในปัจจุบัน ไม่ได้หมายความว่าล้าง แต่หยุดให้ผล เหมือนกับเกลือกำมือหนึ่งใส่ลงในขันน้ำก็เค็ม แต่ถ้าใส่ในแม่น้ำความเค็มก็ไม่ปรากฏ แต่เกลือก็ยังอยู่ในแม่น้ำ ส่วนกรรมในศาสนาฮินดูแก้ไขไม่ได้ต้องก้มหน้าก้มตารับไปจนกว่าจะตาย ที่คนไทยส่วนมากเข้าใจว่าเกิดมาใช้กรรมก็เพราะเชื่อแบบฮินดู ความเชื่อนี้จะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พรหมลิขิต ความจริงพระพุทธเจ้าเอาคำว่า กรรม มาจากศาสนาพราหมณ์นั่นแหละ แต่เปลี่ยนความหมาย มีหลายคำที่พระองค์นำมาจากศาสนาพราหมณ์และเปลี่ยนความหมาย เช่น พรหม ความหมายในศาสนาพราหมณ์หมายถึงเทพสูงสุดสร้างสรรพสิ่ง แต่พุทธ หมายถึง บิดามารดา  พราหมณ์ ความหมายเดิมคือผู้เรียนจบไตรเพท แต่พุทธ หมายถึง ผู้หมดกิเลส  เป็นต้น)

การเวียนว่ายตายเกิดสร้างวงจรแห่งการเกิด การมีชีวิตอยู่ ความตายและการเกิดใหม่ ซ้ำ ๆ  ซาก ๆ  วงจรจะสิ้นสุดเพียงเมื่อคนเข้าถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทพเจ้า อันเร้นลับ  เพื่อให้เข้าถึงภาวะนั้น คนต้องมาตระหนักว่า วิญญาณของเขาหรือของหล่อนและจิตวิญญาณของพระเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (ส่วนพุทธศาสนาสอนว่า การเวียนว่ายตายเกิดจะสิ้นสุดก็ต่อเมื่อหมดกิเลส ไม่ได้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอะไร จิตวิญญาณหมดกิเลส ก็ดับเหมือนไฟหมดเชื้อก็ดับ)

หนทางมากมายที่ให้เข้าถึงเทพ  ชาวฮินดูเชื่อว่าพวกเขาเชื่อมต่อกับเทพตามเส้นทางแต่ละเส้นของพวกเขาเอง  ส่วนหนึ่งของเส้นทางเกี่ยวการงานของตน ซึ่งจะเชื่อมโยงกับระบบวรรณะ ชาวฮินดูที่มีศรัทธาจะต้องทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในชีวิตให้สมบูรณ์
          ชาวฮินดูมีทางเลือกในการฝึกหัดทางจิต เพื่อจะพัฒนาตนให้ใกล้ชิดกับเทพ  ในข้อปฏิบัติเหล่านี้ สองอย่างยังเป็นที่นิยมของผู้ที่ไม่ใช่ชาวฮินดูจำนวนมาก นั่นคือ การทำสมาธิเป็นการปฏิบัติของการทำจิตใจให้สงบ และโยคะคือการปฏิบัติที่สลับซับซ้อนที่รวมทั้งการออกกำลังกาย  เทคนิคการหายใจ การรับประทานอาหาร (พึงสังเกตสมาธิพระพุทธเจ้าก็นำมาจากศาสนาพราหมณ์นั่นแหละ โดยได้เรียนรู้จากอาฬารดาบสและอุททกดาบส แต่นำมาเป็นฐานให้เกิดปัญญาเพื่อกำจัดกิเลสเท่านั้น จุดมุ่งหมายของพุทธคือการกำจัดกิเลส)

ความแตกต่างระหว่างพราหมณ์-ฮินดูกับพุทธ  พึงทราบว่าในสมัยพุทธกาลหรือก่อนพุทธกาล  มีศาสนามากมาย ซึ่งพระพุทธเจ้าเรียกว่า ทิฏฐิ หรือ ทิฐิ หรือทฤษฎี ทิฏฐิร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า มีถึง 62 ทิฏฐิ พราหมณ์นั้น มีมาก่อนพุทธกาล ซึ่งมาพร้อมกับชาวอารยัน เป็นทิฏฐิหรือศาสนาของชาวอารยัน  ในดินแดนเอเชียนั้น ในน้ำมีปลาในนามีข้าว จึงมีเวลาในการคิดเรื่องทฤษฎีต่าง ๆ มากมาย ส่วนมากจะเป็นด้านจิตใจ (ตรงข้ามกับตะวันตก จะคิดกันในด้านวัตถุ เนื่องจากต้องดิ้นรนในเรื่องการอยู่รอดปลอดภัย อันเนื่องมาจากดินฟ้าอากาศ) มีการฝึกหัดจิตใจ ได้ฌาน ได้ปาฏิหาริย์ทางจิต เช่น เหาะเหินเดินอากาศได้ หายตัวได้ ดำดินได้ อ่านใจคนอื่นได้ เป็นต้น ซึ่งมีมาก่อนพุทธกาลเสียอีก  ซึ่งมีฤษีดัง ๆ มากมาย เช่น กาฬเทวินดาบส อาฬารดาบสและอุททกดาบส  เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็เล่าเรียนสิ่งเหล่านี้มาจากสำนักดาบสเหล่านี้  ก่อนที่พระองค์จะดำริได้ว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ เมื่อออกจากฌานสมาบัติแล้ว ทุกข์ก็เกิดขึ้นอีก เหมือนเอาหินทับหญ้าไว้ เมื่อเอาหินออก หญ้าก็งอกขึ้นมาอีก  เป็นต้น  ซึ่งพระพุทธองค์เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า ข่ายดักพรหม (พรหมชาละ) คือ ดักไม่ให้หลุดพ้นจากทุกข์แท้จริงหรือทุกข์อย่างละเอียด วิปัสสนาเท่านั้นที่สามารถกำจัดทุกข์อย่างละเอียดได้จริง  ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบอย่างแท้จริง โดยไม่มีใครสั่งสอน  วิปัสสนานี่แหละที่ทำให้พุทธศาสนาแตกต่างจากศาสนาอื่นทั้งหลาย  วิปัสสนาไม่มีในศาสนาอื่น นอกจากพุทธศาสนา
     
 
พระพรหม
พระพรหม พระผู้สร้าง
เป็นเทพองค์แรกของศาสนาพราหมณ์


พระวิษณุ
พระวิษณุ  พระผู้ปกปักษ์รักษา
ซึ่งพรามหณ์สร้างขึ้นหลังพุทธกาล


พระศิวะหรือพระอิศวร
พระศิวะหรือพระอิศวร  เทพเจ้าผู้ทำลาย  สร้างขึ้นสมัยเดียวกับพระวิษณุ

 
ระบบวรรณะของพราหมณ์
ระบบวรรณะของพราหมณ์-ฮินดู