แปลจาก...World History ของ Mcdougal Littel
แปลโดย...ทรงศักดิ์ สายหยุด

การค้าขายทางเรือของชาวฟินิเซีย

การค้าขายของชาวไมนวน (Minoans) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

การค้าขายของชาวไมนวน (Minoans) ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
ชาวไมนวน เป็นชาวเรือที่มีอิทธิพลมาก  โดดเด่นในการค้าขายทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านทิศตะวันออก  นับจากประมาณ 2,000-1,400 ปีก่อนคริสตกาล อาศัยอยู่บนเกาะครีต (Crete) ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ด้านใต้ของทะเลอีเจียน (Aegean Sea) ชาวไมนวนผลิตเครื่องปั้นดินเผามีลวดลายสวยงามมากในยุคนั้น พวกเขาค้าขายเครื่องปั้นดินเผานั้น พร้อมกับดาบ กระเบื้องและภาชนะที่ทำจากโลหะล้ำค่า ไปทั่วบริเวณขนาดใหญ่
ชาวไมนวนยังนำศิลปะและวัฒนธรรมของตนเองไปเผยแพร่พร้อมกับสินค้าเหล่านั้น รวมถึงสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ ประเพณีการฝังศพและพิธีกรรมทางศาสนา   ตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมของชาวไมนวนมีอิทธิพลอย่างมากต่อกรีซ  การค้าขายได้เปลี่ยนแปลงเกาะครีตเป็น “การเติบโตแบบก้าวกระโดด"  เนื่องจากมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไปทั่วโลกแห่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

การค้นพบวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง  นักโบราณคดีในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 19 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ได้ขุดพบเมืองคนอสซอส (Knossos) เมืองหลวงของชาวไมนวน  ณ ที่นั้น นักโบราณคดีได้ค้นพบซากวัฒนธรรมที่ทันสมัยและเจริญรุ่งเรือง  มันต้องเป็นเมืองที่เงียบสงบด้วยซ้ำ  เนื่องจากเมืองของชาวไมนวนดูเหมือนไม่มีความจำเป็นต้องมีป้อมปราการเพื่อป้องกันตนเองเลย  นักโบราณคดีได้ตั้งชื่ออารยธรรมที่พวกเขาค้นพบในครีตว่า มิโนอา (Minoa) ตามพระนามกษัตริย์ไมนอส (King Minos) ตามตำนานกล่าวไว้ว่า กษัตริย์ไมนอสเป็นเจ้าของสัตว์ประหลาดครึ่งมนุษย์ครึ่งวัวกระทิง เรียกว่า มินะทอร์  (Minotaur) พระองค์ทรงเก็บรักษาสัตว์ประหลาดโดยการขังไว้ภายในเขาวงกตที่สลับซับซ้อนยากที่ใครจะสามารถหลบหนีได้
การขุดพบเมืองคนอสซอสและกำแพงที่มีการวาดภาพได้แสดงข้อมูลเกี่ยวกับชาวไมนวนเป็นอันมาก ภาพวาดผนัง ตราประทับของทางการและแจกัน แสดงให้เห็นว่า ชาวไมนวนเป็นคนที่สง่างามมีร่างกายกำยำเหมือนนักกีฬา  รักธรรมชาติและความสวยงาม พวกเขายังมีความสุขกับการเล่นกีฬา เช่น ชกมวย มวยปล้ำและการต่อสู้วัวกระทิง
งานศิลปะของชาวไมนวนหลายอย่าง วาดภาพสตรีและบทบาทของสตรีในพิธีกรรมทางศาสนา ศิลปะแสดงให้เห็นว่า สตรีในวัฒนธรรมไมนวนมีฐานะที่สูงกว่าสตรีในวัฒนธรรมใกล้เคียง  พระแม่ธรณีผู้ยิ่งใหญ่ดูเหมือนจะปกครองเทพอื่น ๆ ของเกาะครีต นอกจากนี้ นักบวชผู้หญิงดูแลวิหาร โดยมีผู้ช่วยเป็นผู้ชาย
ชาวไมนวนเอาวัวตัวผู้และสัตว์อื่น ๆ ของตนเองบวงสรวงเทพเจ้า อย่างน้อยที่สุด จะมีอยู่กรณีหนึ่งที่เอาชายหนุ่มมาบูชายัญ  การขุดค้นวัดบนภูเขาเผยให้เห็นกระดูกของเด็กชายอายุ 17 ปีบนแท่นบูชาพร้อมกับโครงกระดูกของนักบวชผู้ชาย 3 คน  ตำแหน่งของโครงกระดูก ชี้ให้เห็นว่า นักบวชชายได้เอามนุษย์บูชายัญก่อนที่อาคารจะทรุดตัวลง

วัฒนธรรมไมนวนสิ้นสุดลงอย่างลึกลับ  ในที่สุด อารยธรรมไมนวนก็สิ้นสุดลง เมื่อประมาณ 1,200 ปีก่อนคริสตกาล เหตุผลแห่งการสิ้นไม่มีความชัดเจน อาจจะได้รับกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือไม่?  เกาะอาจจะมีพลเมืองมากเกินไปหรือไม่? หรือไม่ก็ถูกผู้บุกรุก?
อารยธรรมทนต่อภัยพิบัติก่อนหน้านี้ เมื่อประมาณ 1,700 ปี ก่อนคริสตกาล ภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจจะเกิดแผ่นดินไหว ทำลายเมืองน้อยและเมืองใหญ่ของชายไมนวนจนหมดสิ้น  ชาวไมนวนได้สร้างเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์เท่า ๆ กันขึ้นมาใหม่  จากนั้น เมื่อ 1,470 ปี ก่อนคริสตกาล แผ่นดินไหวเป็นชุด ๆ ทำให้เกาะครีตสั่นสะเทือน ตามมาด้วยการระเบิดของภูเขาไฟที่รุนแรงในเกาะธีรา (Thera) ซึ่งอยู่ใกล้เคียง  ลองนึกภาพการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน การระเบิดของภูเขาไฟอันร้อนแรง ตามด้วยคลื่นยักษ์ขนาดใหญ่และฝนเถ้าภูเขาไฟสีขาวตามมาท้ายสุด


ภัยพิบัติเมื่อ 1,470 ปี ก่อนคริสตกาล ทำให้ชาวไมนวนไม่เคยฟื้นฟูบ้านเมืองได้สมบูรณ์เลย  ช่วงนี้ ชาวไมนวนมีปัญหาในการสร้างเมืองขึ้นมาใหม่                     อย่างไรก็ตาม อารยธรรมไมนวนยังคงหลงเหลือมาเป็นเวลาเกือบ 300 ปี หลังจากนั้น ผู้รุกรานจากกรีซอาจได้รับประโยชน์จากสภาพที่อ่อนแอของพวกเขาในการทำลายพวกเขา ชาวไมนวนบางพวกหนีไปบนภูเขาเพื่อหลบหนีการทำลายล้างอาณาจักร อิทธิพลของเกาะครีต ซึ่งเป็นอำนาจทางทะเลที่สำคัญและมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมก็ถึงกาลอวสาน

ชาวฟินิเซีย (Phoenician) แพร่กระจายการค้าขายและอารยธรรม
ประมาณ 1,100 ปีก่อนคริสตกาลหลังจากการล่มสลายของเกาะครีต พ่อค้าผู้มีอิทธิพลมากที่สุด ตามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน คือ ชาวฟินิเซีย (Phoenicia) ดินแดนฟินิเซีย คือ บริเวณที่เป็นประเทศเลบานอนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ ชาวฟินิเซียไม่เคยรวบรวมประเทศเป็นปึกแผ่นเลย แต่พวกเขาก็ได้ก่อตั้งนครรัฐอันมั่งคั่งเป็นจำนวนมาก รอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งบางเวลาก็แข่งขันกัน เมืองแรกในดินแดนฟินิเซีย  เช่น เมืองบิบลอส (Byblos) เมืองไทร์ (Tyre) และเมืองไซดอน (Sidon) เป็นต้น เป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ
ชาวฟินิเซียเป็นนักสร้างเรือและเป็นนักเดินเรือที่ยอดเยี่ยม พวกเขาเป็นชาวทะเลเมดิเตอร์เรเนียนพวกแรกที่ผจญภัยเหนือช่องแคบยิบรอลตาร์ นักวิชาการบางพวก เชื่อว่า ชาวฟินิเซียค้าขายแร่ดีบุกกับชาวพื้นเมืองทางฝั่งทะเลตอนใต้ของสหราชอาณาจักร มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงถึงความชำนาญที่น่าทึ่งมาก คือ การแล่นเรือใบทั่วทวีปแอฟริกาทางทะเลแดงและกลับมาผ่านช่องแคบยิบรอลตาร์ การเดินทางดังกล่าว ไม่ซ้ำกันเลย เป็นเวลาถึง 2,000 ปี  นักประวัติศาสตร์ชาวกรีก ชื่อ เฮอรอโดทัส (Herodotus) บรรยายความชำนาญของชาวฟินิเซียไว้ในหนังสือ “ในประวัติศาสตร์” เล่มที่ 4 (ศตวรรษที่ 5 ก่อนคริสตกาล) (HERODOTUS, in History, Book IV (5th century B.C.)) ว่า
       “ชาวฟินิเซียเริ่มออกเดินทางจากทะเลแดงและแล่นเรือไปสู่ทะเลทางทิศใต้ (มหาสมุทรอินเดีย) เมื่อฤดูใบไม้ร่วงมาถึง พวกเขาก็จะใช้เวลาปลูกผักบนพื้นแผ่นดิน  พวกเขาอาจจะเดินทางมาถึงสถานที่เป็นส่วนหนึ่งของลิเบีย (แอฟริกา) และรอการเก็บเกี่ยว จากนั้น เมื่อเก็บรวบรวมพืชพันธุ์ธัญญาหารแล้ว พวกเขาก็แล่นเรือต่อไป ทั้งนี้ เมื่อผ่านไปสองปี ก็เป็นครั้งที่สามที่พวกเขาแล่นเรือรอบเสาหินของเฮอร์คิวลีส (the Pillars of Heracles – หมายถึง ช่องแคบยิบรอลตาร์) และมาถึงอียิปต์ ณ ที่นั่น พวกเขากล่าวว่า (สิ่งที่บางคนอาจจะเชื่อ แต่ฉันไม่เชื่อ) ว่า ในการแล่นเรือรอบลิเบีย พวกเขามีดวงอาทิตย์อยู่ทางขวามือ [ในตำแหน่งย้อนกลับ]”







แผนที่อารยธรรมไมนวนและไมซีเนีย

นักสู้วัวกระทิงแห่งเมืองคนอสซอส
ภาพวาดผนังด้านบนคือการกระโดดท้าทายความตายของนักสู้วัวกระทิงชาวไมนวน ลอยอยู่บนหลังวัว  ผลงานจำนวนมากของศิลปะไมนวนแสดงถึงชายหนุ่มที่กำลังกระโดดโลดโผนอย่างน่าทึ่งอยู่เหนือเขาของวัวที่กำลังโกรธ ในกรณีหนึ่ง เป็นการกระโดดกายกรรมเหนือเขาวัว ด้วยการตีลังการบนหลังวัวและลงด้านหางของมัน
ด้วยความชำนาญด้านกายกรรม สมาชิกในทีมบางคน จะโหนเขาวัว โดยใช้ร่างกายเพื่อลดการกระแทกของเขาวัวและบังคับให้หัวของวัวก้มต่ำลง ในขณะสมาชิกในทีมอีกคนหนึ่งจะกระโดดขึ้นไปบนหลังของมัน
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้วัวนี้ กระโจน? มันเป็นกีฬาหรือไม่? หรือเป็นเพียงแค่กิจกรรมเล่น "สนุก"? หรือเป็นการเริ่มต้นสำหรับนักรบหนุ่ม? หรือเป็นพิธีกรรมทางศาสนา? ส่วนใหญ่เป็นทุกสิ่งที่กล่าวมานี้



ด่านหน้าของการพาณิชย์รอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  นครรัฐที่สำคัญที่สุดของชาวฟินิเซียทะเลเมดิเตอร์เรเนียนด้านทิศตะวันออก คือ เมืองไซดอนและเมืองไทร์ เมืองทั้งสองมีชื่อเสียงในด้านการผลิตสีย้อมผ้าสีแดง-ม่วง และบิบลอส เป็นศูนย์กลางการค้าขายต้นปาปิรัส (papyrus – คล้ายต้นกก)  ชาวฟินิเซียสร้างอาณานิคมตามแนวชายฝั่งทะเลทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาและชายฝั่งเกาะซิซิลี ซาร์ดิเนียและสเปน อาณานิคมยาวประมาณ 30 ไมล์ (ประมาณ 48 กิโลเมตร) เป็นระยะทางที่ชาวฟินิเซียสามารถแล่นเรือได้ใน 1 วัน อาณานิคมของชาวฟินิเซียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอยู่ที่คาร์เธจ (Carthage) ในแอฟริกาตอนเหนือ ผู้ตั้งถิ่นฐานจากเมืองไทร์ ได้ก่อตั้งเมืองคาร์เธจขึ้น เมื่อประมาณ 814 ปีก่อนคริสตกาล
ชาวฟินิเซียค้าขายสินค้าที่พวกเขานำมาจากดินแดนอื่น ๆ คือ ไวน์  อาวุธ โลหะมีค่า งาช้าง และทาส พวกเขายังมีชื่อเสียงในด้านเป็นช่างฝีมือที่ยอดเยี่ยม ซึ่งทำงานในด้านไม้ โลหะ แก้วและงาช้าง สีย้อมผ้าสีแดง-ม่วงของพวกเขาผลิตมาจากสังข์ ซึ่งเป็นชนิดหอยทากที่อาศัยอยู่ในน่านน้ำนอกเมืองไซดอนและเมืองไทร์ หอยทากตัวหนึ่งเมื่อทิ้งไว้ให้เน่าเปื่อย จะผลิตได้เพียงหยดหนึ่งหรือสีแดง-ม่วงเข้มเหลว 2 หยด หอยทาก 60,000 ตัวเป็นสิ่งที่จำเป็นในการผลิตสีย้อมผ้าหนึ่งปอนด์ ซึ่งบุคคลในราชวงศ์เท่าจึงจะสามารถจัดหาได้

ตัวอักษร คือ มรดกอันยิ่งใหญ่ของชาวฟินิเซีย  ในฐานะที่เป็นพ่อค้า  ชาวฟินิเซียจำเป็นต้องมีวิธีการเขียนบันทึกการทำธุรกรรมอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ดังนั้น ชาวฟินิเซียจึงพัฒนาระบบการเขียนที่ใช้สัญลักษณ์แทนเสียง ระบบของชาวฟินิเซียที่ใช้แทนเสียง นั่นคือ สัญลักษณ์ตัวหนึ่งจะใช้แทนเสียงอันหนึ่ง ในความเป็นจริง  คำว่า alphabet  มาจากตัวอักษรของชาวฟินิเซียสองตัวแรกโดยตรง คือ aleph และ beth  ในขณะที่พวกเขาเดินทางไปทั่วทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  ชาวฟินิเซียได้นำระบบการเขียนนี้ไปเผยแพร่ให้กับคู่ค้าของพวกเขา ตัวอย่างเช่น ชาวกรีกได้รับเอาตัวอักษรของชาวฟินิเชียและเปลี่ยนรูปแบบของตัวอักษรบางส่วน
มีตัวอย่างการเขียนของชาวฟินิเซียสองสามตัวอย่าง  การเขียนส่วนใหญ่จะเขียนบนกระดาษปาปิรัส ซึ่งร่วงโรยตามกาลเวลา อย่างไรก็ตาม ผลงานของชาวฟินิเซียก็แพร่กระจายไปทั่วโลก  ด้วยตัวอักษรที่เรียบง่าย การเรียนรู้จึงสามารถเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมากขึ้น ๆ


การค้าขายของชาวฟินิเซียก็เกิดความวุ่นวาย เมื่อเมืองทางทิศตะวันออกถูกชาวอัสซีเรียยึดครอง เมือ 842 ปี ก่อนคริสตกาล  อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้เหล่านี้ยังได้รับการสนับสนุนเรื่องการอพยพไปตั้งนครรัฐ เช่น คาร์เธจ ทางทิศตะวันตก ต่อมา บ้านเกิดเมืองขอชาวฟินิเชีย ก็ตกอยู่ใต้การปกครองของชาวบาบิโลเนียและจักรวรรดิเปอร์เซียของกษัตริย์ไซรัสที่ 1  ผลงานที่ยังคงอยู่ยาวนานที่สุดของชาวฟินิเซีย คือ การเผยแพร่ตัวอักษร

เส้นทางการค้าขายในโบราณกาล
นอกจากนี้ การค้าขายในสมัยโบราณยังเชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับศูนย์กลางการค้าขายของโลกอื่น ๆ อีก เช่น เอเชียใต้และเอเชียตะวันออก เส้นทางบกหลายเส้นทางข้ามเอเชียกลางและเชื่อมต่อกับประเทศอินเดีย ผ่านอัฟกานิสถาน เส้นทางทะเลสองเส้นทางเริ่มขึ้นโดยการข้ามทะเลอาหรับไปยังท่าเรือในอ่าวเปอร์เซียและทะเลแดง จากนั้น เหล่าพ่อค้าก็เดินทางบกไปยังอียิปต์ ซีเรียและประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน หรือไม่พวกเขาก็จะแล่นเรือต่อไปสู่ทะเลแดง  เมื่อเดินทางข้ามทะเลอาหรับ กะลาสีจะเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากลมมรสุม ลมเหล่านี้จะพัดมาจากทิศตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงเดือนที่ร้อนและจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว
เพื่อขยายการส่งออกที่หลากหลาย  เหล่าพ่อค้าชาวอินเดียก็ใช้ลมมรสุมอื่น ๆ ในการเดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินโดนีเซีย ครั้งหนึ่ง ณ ที่นั้น พวกเขาได้รับเครื่องเทศและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่ของพื้นเมืองไปยังประเทศอินเดีย
แม้ว่าการเดินทางจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในสมัยโบราณ เครือข่ายการค้าขาย เช่น ของชาวฟินิเซีย ก็ทำให้เกิดความมั่นใจในการแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และข้อมูลขาวสาร  เหล่าพ่อค้าจะนำแนวคิด ความเชื่อทางศาสนา ศิลปะ และแนวทางการดำเนินชีวิตไปพร้อมกับสิ้นค้าของพวกเขา พวกเขาช่วยเผยแพร่วัฒนธรรมกับการขนย้ายสินค้า
เหล่าพ่อค้าชาวฟินิเซีย สร้างผลงานที่สำคัญอย่างยิ่งต่ออารยธรรมโลก ในเวลาเดียวกัน ผู้คนชาวเมดิเตอร์เรเนียนตะวันออกอีกพวกหนึ่ง คือ ชาวยิว ก็กำลังสร้างสรรค์วัฒนธรรมประเพณีทางศาสนา ซึ่งยังคงดำรงอยู่ต่อมามากกว่า 3,000 ปี



 
จารึกภาษาฟินิเซียจากโลงหิน



การค้าขายของชาวฟินิเซีย

ฟินิเซีย ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีสำหรับการค้าขาย เนื่องจากทอดไปตามเส้นทางสำหรับเดินทางได้เป็นอย่างดี ระหว่างอียิปต์และเอเชีย อย่างไรก็ตาม ชาวฟินิเซียไม่ได้แค่รอการค้าขายกับพ่อค้าที่เดินทางผ่านภูมิภาคของพวกเขา ยังเป็นลูกเรือผู้เชี่ยวชาญและเดินทางค้นหาโอกาสในการสร้างรายได้อีกด้วย

เรือนค้าขาย


 เรือค้าขาย
     ลูกเรือชาวฟินิเซียพัฒนาเรือรูปทรงกลม ซึ่งเป็นเรือที่กว้างมากและมีท้องโค้งมน รูปทรงแบบนี้สร้างพื้นที่ว่าขนาดใหญ่สำหรับการขนส่งสินค้า