แปลจาก...World History ของ Mcdougal Littel
แปลโดย...ทรงศักดิ์ สายหยุด

การรวมตัวเป็นเอกภาพของจีน

การรวมตัวเป็นเอกภาพของจีน
ราชวงศ์โจว (Zhou Dynasty) ยืนหยัดอยู่อย่างน้อยถึง 8 ศตวรรษ ตังแต่ประมาณ  1027 ปี ถึง 256 ปีก่อนคริสตกาล  300 ปีแรกที่ราชวงศ์โจวปกครองยาวนาน เป็นอาณาจักรที่ใหญ่มาก รวมทั้งดินแดนด้านตะวันออกและด้านตะวันตก ผู้ปกครองท้องถิ่นจะรายงานทุกเรื่องให้กับกษัตริย์ผู้มีอำนาจสูงสุด  หลายปีต่อมา ขุนนางแห่งดินแดนที่เป็นเมืองขึ้นเริ่มคิดว่าตัวเองเป็นกษัตริย์ที่มีอิสรภาพ  ความขัดแย้งซึ่งแทบจะมีอย่างต่อเนื่อง ที่เรียกกันว่า ยุครณรัฐ หรือ ยุคเลียดก๊ก (the warring states period) ได้นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์โจว

ขงจื๊อกับระเบียบทางสังคม
ในช่วงท้ายของราชวงศ์โจว  จีนละทิ้งคุณค่าอันเก่าแก่ของระเบียบทางสังคม ความสามัคคีและความเคารพต่อผู้มีอำนาจ นักวิชาการและนักปรัชญาจีน จึงพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูคุณค่าเหล่าให้กลับคืนมา
ขงจื๊อปลุกเร้าให้เกิดความสามัคคี  นักปราชญ์ผู้ทรงอิทธิพลมากที่สุดของจีน คือ ขงจื้อ  เกิดเมื่อ 551 ปี ก่อนคริสตกาล ขงจื๊อมีชีวิตอยู่ในยุคที่ราชวงศ์โจวกำลังเสื่อมโทรม ท่านเป็นผู้นำทางชีวิตแห่งการศึกษา ด้วยการให้การศึกษาและสอนประวัติศาสตร์ ดนตรีและศีลธรรม
ขงจื๊อเกิดในช่วงเวลาแห่งวิกฤตและความรุนแรงในประเทศจีน ท่านมีความปรารถนาอย่างลึกซึ้งในการฟื้นฟูวิถีชีวิตอันเป็นระเบียบและมีศีลธรรมในยุคแรกให้กลับมาสู่สังคมของจีน  ท่านเชื่อว่า ระเบียบทางสังคม ความสามัคคี ตลอดจนการปกครองที่ดี สามารถฟื้นฟูให้กลับคืนมาได้ ถ้าสังคมมีการจัดระเบียบความสัมพันธ์ขั้นพื้นฐาน 5 ประการ คือ ความสัมพันธ์ระหว่าง (1) ผู้ปกครองกับราษฎร (2) บิดากับบุตร (3) สามีกับภรรยา (4) พี่ชายกับน้องชายและ (5) เพื่อนกับเพื่อน ประมวลศีลธรรมอันเหมาะสม จะวางระเบียบความสัมพันธ์แต่ละอย่างเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้ปกครองควรปกครองด้วยเมตตาธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงาม ในทางกลับกัน ราษฎร ควรจะจงรักภักดีและปฏิบัติตามกฎหมาย
ความสัมพันธ์ 5 ข้อของจื๊อ มี 3 ข้อที่เกี่ยวกับครอบครัว  ขงจื๊อเน้นว่า ลูก ๆ ควรมีความกตัญญูและความเคารพต่อบิดามารดาและบรรพบุรุษ  ความกตัญญูตามคำสอนของขงจื๊อหมายถึงการอุทิศตัวเองให้กับบิดามารดาในช่วงเวลาที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ เมื่อท่านเสียชีวิตไปแล้ว ลูก ๆ ยังมีความจำเป็นในการยกย่องท่านด้วยการทำพิธีกรรมบางอย่าง
ขงจื๊อต้องการปฏิรูปสังคมจีน ด้วยการแสดงวิธีการปกครองอย่างชาญฉลาดให้กับผู้ปกครอง  เจ้าแห่งแคว้นหลู่ประทับใจในปัญญาของขงจื๊อ จึงแต่งตั้งท่านให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม  ตามตำนานกล่าวว่า ขงจื๊อ ดูแลประชาชนด้วยเมตตาธรรมและความสุภาพ ไม่นานนัก  อาชญากรรมก็หายไปจากแคว้นหลู่  อย่างไรก็ตาม เมื่อแนวทางของเจ้าผู้ปกครองแคว้นหลู่ เปลี่ยนแปลงไป ขงจื๊อจึงท้อแท้ใจและลาออก
ขงจื้อใช้เวลาที่เหลือของชีวิตของท่านด้วยการสั่งสอนศิษย์  ต่อมา ลูกศิษย์ของท่าน ได้รวบรวมคำสอนของท่านเป็นคัมภีร์กวีนิพนธ์  ศิษย์ของท่านคนหนึ่ง นามว่า เม่งจื๊อ ยังได้เผยแพร่แนวความคิดของขงจื๊อต่อไปด้วย
แนวความคิดของขงจื๊อเกี่ยวกับการปกครอง
ขงจื๊อกล่าวว่า การศึกษาสามารถเปลี่ยนแปลงคนที่เกิดมาต่ำต้อยให้เป็นผู้สูงส่งได้ ด้วยคำกล่าวนี้  ท่านจึงได้วางรากฐานสำหรับสร้างระบบราชการ ฝึกหัดการบริการประชาชน หรือผู้บริหารงานราชการ  ตามคำสอนของขงจื๊อ ข้าราชการที่ดีต้องมีคุณธรรม 4 ประการ คือ  1.  พฤติกรรมส่วนตัวต้องมีความสุภาพ  2.  การบริการเจ้านายต้องมีความพิถีพิถันแม่นยำ  3.  การจัดหาสิ่งจำเป็นให้กับประชาชน ต้องให้มากกว่ารับ  และ 4.  การเก็บภาษีจากประชาชน ต้องมีความเที่ยงธรรม  การศึกษามีความสำคัญมากต่อความก้าวหน้าในอาชีพราชการ
ลัทธิขงจื๊อไม่ใช่ศาสนา (religion  ตามแนวฝรั่งตะวันตก) แต่เป็นระบบจริยธรรม ซึ่งเป็นระบบที่ยอมรับหลักการของความผิดและความถูกต้อง เป็นรากฐานการปกครองและระเบียบทางสังคมของจีน นอกจากนี้ แนวความคิดของขงจื๊อยังได้เผยแพร่ออกจากประเทศจีนและมีอิทธิพลต่ออารยธรรมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ระบบจริยธรรมอื่น ๆ
นอกจากขงจื้อแล้ว นักวิชาการและนักปรัชญาจีนคนอื่น ๆ ก็ได้พัฒนาจริยธรรมระบบจริยธรรมต่าง ๆ มากมาย บางท่านเน้นความสำคัญของธรรมชาติ บางท่านเน้นอำนาจของรัฐบาล
ปรัชญาเต๋าแสวงหาความสามัคคี  นักปรัชญาชาวจีนอีกท่านหนึ่ง ชื่อ เล่าจื๊อ มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล เน้นความสำคัญระเบียบทางธรรมชาติ ระเบียบทางธรรมชาติมีความสัมพันธ์กับสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ตำราเต๋าเต็กเก็ง (วิถีแห่งคุณธรรม) ได้อธิบายแนวความเชื่อของเล่าจื๊อ  ท่านกล่าวว่า มีพลังงานสากลที่เรียกว่า เต๋า ซึ่งหมายความว่า "ทาง" ควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง  ตามคำสอนของเล่าจื๊อ ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดตามธรรมชาติ มีแต่มนุษย์เท่านั้น ที่มีความล้มเหลวในการปฏิบัติตามเต๋า มนุษย์โต้เถียงแต่ปัญหาเรื่องความถูกและความผิด ความดีหรือความเลว

ปรัชญาของเล่าจื๊อ เรียกว่า ลัทธิเต๋า การค้นหาความรู้และความเข้าใจในธรรมชาติของลัทธิเต๋าได้ชักนำให้ศิษยานุศิษย์ไปสู่การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ นักปรัชญาเต๋าหลายคนได้สร้างผลงานหลายอย่างให้กับวิทยาศาสตร์ สาขารสายนเวท (วิชาเคมียุคเล่นแร่แปรธาตุ) ดาราศาสตร์และแพทยศาสตร์

นักปรัชญานิตินิยมกระตุ้นให้มีการปกครองแบบเข้มงวด  เมื่อเปรียบเทียบกับศิษย์ของขงจื๊อและเล่าจื๊ออย่างชัดเจน กลุ่มนักปรัชญาแนวปฏิบัติทางการเมือง จะเรียกว่า นิตินิยม พวกเขาเชื่อว่า รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพสูงและสมรรถภาพสูง จะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยในสังคม พวกเขาได้รับการขนานนามเช่นนั้น เพราะความเชื่อที่ว่า รัฐบาลควรจะใช้กฎหมายยุติความวุ่นวายทางการเมืองและฟื้นฟูความสามัคคี หาน เฟยจื่อ และหลี่ ซือ อยู่ในกลุ่มผู้ก่อตั้งลัทธินิติธรรม

นักปรัชญานิตินิยม สอนว่า ผู้ปกครองควรจัดหารางวัลมากมายให้กับประชาชนผู้ทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จสมบูรณ์  ในทำนองเดียวกัน ผู้ที่ไม่เชื่อฟังควรจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง ในทางปฏิบัติ ปรัชญานิตินิยม จะเน้นการลงโทษมากกว่าการให้ผลตอบแทน ยกตัวอย่างเช่น ผู้ใดพบชาวบ้านของตนเองอยู่นอกหมู่บ้านโดยไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทาง ควรจะตัดหูและจมูกทิ้งเสีย
นักปรัชญานิตินิยมเชื่อในการควบคุมความคิดและการกระทำ พวกเขาแนะนำให้นักปกครองเผาข้อเขียนทั้งหมดที่อาจส่งเสริมให้คนวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล อย่างไรก็ตาม  หลักการนั้นก็มีไว้ให้กษัตริย์ใช้ปกครองและให้ประชาชนปฏิบัติตาม ในที่สุด แนวความคิดนิติธรรม ก็เป็นที่โปรดปรานของกษัตริย์แห่งราชวงศ์ใหม่ที่เข้ามาปกครองแทนราชวงศ์โจว ในไม่ช้า นักปกครองผู้ทรงประสิทธิภาพ ก็ได้นำความสงบเรียบร้อยมาสู่จีน



ขงจื๊อ



เล่าจื๊อ

 ขงจื๊อ (551 – 479  ปี ก่อนคริสตกาล)
ขงจื้อได้เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ท่านใช้ชีวิตเป็นครู ท่านมีความปรารถนาจะให้ลูกศิษย์ทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้นำทางการเมือง ในที่สุด เมื่ออายุประมาณ 50 ปี ของจื๊อก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการกระทรวงในแคว้นบ้านเกิด  ตามตำนานกล่าวว่า ท่านได้วางตัวอย่างคุณธรรมไว้ว่า ถุงเงินวางอยู่กลางถนน ก็ไม่ควรแตะต้องเป็นเวลาหลายวัน
หลังจากที่ขงจื้อลาออกจากตำแหน่งผู้ว่าการกระทรวง ท่านก็เดินทางกลับไปเป็นครูสอน ท่านถือได้ว่าตัวเองไม่เคยประสบผลสำเร็จ เนื่องจากไม่ได้ตำแหน่งในทางราชการในระดับสูง แต่แนวความคิดของขงจื๊อก็เป็นเบ้าหลอมความคิดของชาวจีนมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

 เล่าจื๊อ (ศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล)
แม้เล่าจื๊อจะได้รับความเชื่อถือว่าเป็นนักปรัชญาของลัทธิเต๋า  แต่ก็ไม่มีใครรู้แน่นอนว่าท่านมีชีวิตอยู่จริงๆ ตำนานเล่าว่า มารดาของเล่าจื๊ออุ้มครรภ์เป็นเวลาถึง 62 ปี และท่านคลอดออกมาในขณะที่มีผมสีขาวและร่างกายมีรอยเหี่ยวย่น ศิษย์ของเล่าจื๊อ อ้างว่า เล่าจื๊อเป็นผู้ร่วมสมัยกับขงจื๊อ
อย่างไรก็ตาม เล่าจื๊อแตกต่างกับขงจื้อ คือ มีความเชื่อว่า การปกครองควรจะทำให้เป็นเรื่องเล็กน้อยเท่าที่จะทำได้และควรปล่อยให้ประชาชนอยู่อย่างโดดเดี่ยว เล่าจื๊อคิดว่า      ประชาชนสามารถทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ    ให้ประสบผลสำเร็จได้ ลัทธิเต๋ามีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติในฐานะเป็นทางเลือกหนึ่งในภาวการณ์ที่การเมืองเกิดความยุ่งเหยิง

อี้จิงและหยิน-หยาง  ประชาชนมีความสนใจเล็กน้อยใน
การอภิปรายทางปรัชญาลัทธิขงจื๊อ ลัทธิเต๋า และปรัชญานิตินิยม มัวแต่ค้นหาคำตอบปัญหาชีวิตในที่อื่น ๆ บางคนให้คำปรึกษาเป็นคัมภีร์พยากรณ์ เรียกว่า อี้จิง  ในการแก้ปัญหาจริยธรรมหรือในทางปฏิบัติ ผู้อ่านจะใช้หนังสือเล่มนี้ด้วยการโยนเหรียญเป็นชุด เพื่อตีความหมายผลการโยน แล้วอ่านคำทำนายหรือคาดการณ์ที่เหมาะสม  อี้จิง (The Book of Changes) ช่วยให้คนมีคววามสุขในชีวิต ด้วยคำแนะนำที่ดีและเรียบง่าย
พวกอื่นหันไปหาแนวความคิดของนักปรัชญาโบราณ เช่น แนวความคิดหยินและหยาง คือ อำนาจสองอย่างที่ร่วมกันเป็นตัวแทนของจังหวะชีวิตตามธรรมชาติ  หยิน เป็นตัวแทนของทุกสิ่ง ที่หนาวเย็น สีดำ นุ่มและลึกลับ ยางเป็นสิ่งที่ตรงข้าม คือ อบอุ่น ขาวสดใส แข็งและเปิดเผยแจ่มแจ้ง สัญลักษณ์หยินและหยาง เป็นวงกลมแบ่งครึ่งเท่ากัน (ดูภาพขวามือล่าง) วงกลม หมายถึง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของหยินและหยาง พลังอำนาจทั้งสองเป็นตัวแทนจังหวะของจักรวาลและเป็นสวนประกอบที่สมบูรณ์ของกันและกัน  ทั้งอี้จิงและหยิน-หยางช่วยให้ชาวจีนช่วยเข้าใจวิถีการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสมในโลก
ราชวงศ์ฉินรวบรวมจีนให้เป็นเอกภาพ
ในศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล ราชวงศ์ฉิน  เข้ามาปกครองจีนต่อจากราชวงศ์โจว เกิดขึ้นมาจากแคว้นฉินในทางตะวันตก ผู้ปกครองที่ก่อตั้งราชวงศ์ฉิน ใช้แนวความคิดปรัชญานิตินิยม ในการปราบปรามแคว้นที่ทำสงครามกันและรวบรวมชาติให้เป็นเอกภาพ
จักรพรรดิองค์ใหม่เข้าปกครอง  ในช่วง 221 ก่อนคริสตกาล หลังจากปกครองมานานกว่า 20 ปี ผู้ปกครองแคว้นฉิน มีพระนามว่า ฉื่อหวังตี้ (ไทยเรารู้จักในนาม จิ๋นซีฮ่องเต้) ซึ่งมีความหมายว่า "จักรพรรดิองค์แรก"  จักรพรรดิองค์ใหม่ได้เริ่มปกครอง ด้วยการยุติการต่อสู้ภายในประเทศ ซึ่งริดรอนความแข็งแกร่งของจีน ต่อมาพระองค์ก็ให้ความสำคัญในการปราบปรามผู้รุกรานและกำจัดแรงต้านทานภายในจีนที่มีต่อพระองค์  กองทัพฉื่อหวังตี้ ได้โจมตีผู้รุกรานทางตอนเหนือของแม่น้ำหวงโห และทางตอนใต้ไกลออกไปถึงดินแดนที่เรียกว่า เวียดนาม ในปัจจุบัน  ชัยชนะของพระองค์ ได้ขยายดินแดนของจีนเป็นสองเท่า  ฉื่อหวังตี้มีความตั้งพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวในการรวบรวมจีนให้เป็นเอกภาพ
ฉื่อหวังตี้ทรงตัดสินพระทัยที่จะกำจัดผู้คัดค้านทางการเมืองในจีน  เพื่อจะทำลายขุนพลฝ่ายตรงข้าม พระองค์จึงนำนโยบาย "เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับลำต้น ทำกิ่งก้านสาขาให้อ่อน (ลำต้นแข็ง  กิ่งก้านอ่อน)" มาใช้  พระองค์ได้รับสั่งให้ครอบครัวของขุนนางทุกครอบครัวเข้าไปอาศัยอยู่ในเมืองหลวง อยู่ในสายตาที่หวาดระแวงของพระองค์  กล่าวกันว่า นโยบายนี้ ได้ถอนรากถอนโคนครอบครัวขุนนางถึง 120,000 ครอบครัว  เพื่อจะยึดที่ดินของพวกขุนนาง จักรพรรดิได้แบ่งประเทศจีนออกเป็นเขตการปกครอง 36 เขต แล้วจัดส่งเจ้าหน้าที่แคว้นฉินไปควบคุมเหล่าขุนนางเหล่านั้น
เพื่อป้องกันไม่ให้มีการวิจารณ์  พระเจ้าฉื่อหวังตี้กับอัครเสนาบดีหลี่ซือ ผู้เป็นนักปราชญ์แห่งลัทธิปรัชญานิตินิยม ก็ได้ลอบสังหารนักปราชญ์แห่งลัทธิขงจื๊อหลายร้อยคน แล้วให้นำเอาหนังสือ "ที่ไร้ประโยชน์" ไปเผา หนังสือเหล่านี้ คือผลงานของนักปรัชญาและนักกวีลัทธิขงจื๊อ ผู้ไม่เห็นด้วยกับปรัชญานิตินิยม   อย่างไรก็ตาม หนังสือแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการแพทย์และการเกษตรก็รอดพ้นจากการถูกเผา   ด้วยวิธีดังกล่าวนี้ ฉื่อหวังตี้ ได้สถาปนาระบอบเอกาธิปไตย คือ การปกครองที่มีอำนาจเด็ดขาด และใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ (คือระบอบเผด็จการ)

แผนการรวมอำนาจมาอยู่ที่ศูนย์กลาง  แผนการรวมอำนาจมาอยู่ที่จุดศูนย์กลางของฉื่อหวังตี้ รวมถึงการสร้างทางหลวงโยงถึงกันมากกว่า 4,000 ไมล์  (ประมาณ 6,400 กิโลเมตร) นอกจากนี้ พระองค์ยังได้จัดตั้งมาตรฐานระบบการเขียน กฎหมาย เงินตราและมาตรชั่งตวง กระทั่งหน่วยวัดความยาวของล้อเกวียน ให้แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีน มาตรฐานข้อสุดท้ายนี้ ได้สร้างความมั่นใจให้ยานพาหนะทุกคันมีความเหมาะสมกับร่องถนนที่คับแคบบนถนนสายหลักของประเทศจีน
ภายใต้การปกครองของฉื่อหวังตี้ มีโครงการชลประทานมาเพิ่มผลผลิตให้กับไร่นา  การค้าขายก็เจริญเติบโต อันเนื่องมาจากถนนหนทางใหม่ การค้าขายได้ผลักดันระบบชนชั้นพ่อค้าที่เกิดขึ้นใหม่ไปสู่ความรุ่งเรือง แม้จะมีความก้าวหน้าทางสังคมเหล่านี้ แต่ภาษีที่หฤโหดและการปกครองที่เข้มงวด ก็ทำให้ระบบการปกครองของราชวงศ์ฉินไม่เป็นที่นิยมแพร่หลาย ฉื่อหวังตี้ได้รวบรวมประเทศจีนเป็นเอกภาพด้วยการทำให้มนุษย์สูญเสียเสรีภาพ
กำแพงเมืองจีน  นักปราชญ์เกลียดชังฉื่อหวังตี้ที่เผาหนังสือ ประชากรที่ยากจนเกลียดชังพระองค์ เนื่องจากถูกบังคับให้ทำงานในการสร้างกำแพงป้องกันขนาดใหญ่ ผู้ปกครองราชวงศ์โจวยุคแรก สร้างกำแพงเล็กไม่เพียงพอที่จะกีดกันการโจมตีของชนเผ่าเร่ร่อนทางภาคเหนือ (คือพวกฮันส์หรือซยงหนู)  ฉื่อหวังตี้ มุ่งมั่นที่จะปิดช่องว่างและขยายกำแพง ซึ่งมีความยาวเกือบเท่าพรมแดนของจักรวรรดิ ศัตรูจะต้องควบม้าไปครึ่งทางจนถึงทิเบตจึงจะวิ่งรอบกำแพงได้
กำแพงเมืองจีน สร้างขึ้นบนความยากลำบากของชาวนาหลายร้อยหลายพันคน  ผู้คนที่สร้างกำแพงไม่ได้ทำงานเพื่อค่าจ้าง และไม่ได้ทำงานเพราะรักดินแดน  แต่พวกเขาต้องเผชิญกับทางเลือกที่น่ากลัว คือ จะทำงานบนกำแพงหรือจะตาย  แต่อย่างไรก็ตาม กรรมกรหลายชีวิตก็ทำงานบนกำแพงและเสียชีวิตลง ตกเป็นเหยื่อของแรงงานที่หฤโหดหรือสภาพอากาศฤดูหนาวที่รุนแรง
การล่มสลายของราชวงศ์ฉิน  ราชวงศ์ฉินดำรงอยู่เพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้น โอรสของพระเจ้าฉื่อหวังตี้ แม้จะมีความโหดร้ายเหมือนพระองค์ แต่ก็พิสูจน์ความสามารถเพียงเล็กน้อย  เพียงแค่ 3 ปี ที่จักรพรรดิฉินองค์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์ ชาวนาก็ก่อการกบฏ ผู้นำของชาวนาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นชาวฮั่น ก็ยกกองทัพเข้าไปสู่เมืองหลวง ประมาณ 202 ปี ก่อนคริสตกาล ราชวงศ์ฉิน ก็เปิดทางให้ราชวงศ์ฮั่น ซึ่งเป็นราชวงศ์หนึ่งที่ดำรงอยู่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน


สัญลักษณ์หยิน-หยาง
สัญลักษณ์หยิน-หยาง



 
แผนที่ราชวงศ์ฉิน
แผนที่ราชวงศ์ฉิน

 
กำแพงเมืองจีน
กำแพงเมืองจีน




พระเจ้าฉื่อหวังตี้
แม้ว่าพระเจ้าฉื่อหวังตี้จะชื่อว่า เป็นกษัตริย์เผด็จการ ก็ถือว่า พระองค์เป็นกษัตริย์ผู้รวบรวมจีนให้เป็นเอกภาพ  คำว่า จีน (China) ก็กำเนิดมาจากคำว่า ฉิน (Qin) ซึ่งเป็นชื่อของราชวงศ์ฉินของพระองค์

กำแพงเมืองจีนซึ่งสร้างในสมัยราชวงศ์หมิง
แม้ว่าพระเจ้าฉื่อหวังตี้ จะสร้างกำแพงเป็นปึกแผ่นในยุคแรกสุด แต่กำแพงในปัจจุบันนี้ สร้างมาตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368 – 1644 = พ.ศ. 1911 – 2187)
ระบบจริยธรรมของจีน
ลัทธิขงจื๊อ
ลัทธิเต๋า
ปรัชญาลัทธินิตินิยม
- ความสงบของสังคม ความสามัคคีและรัฐบาลที่ดี ควรอิงอาศัยสัมพันธภาพทางครอบครัว
- ความเคารพบิดามารดาและผู้สูงอายุ มีความสำคัญกับสังคมที่มีความสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี
- การศึกษามีความสำคัญต่อสวัสดิการของปัจเจกชนและต่อสังคม
- ความสงบเรียบของธรรมชาติมีความสำคัญกว่าความสงบเรียบร้อยของสังคม
- พลังของจักรวาลควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง
- มนุษย์ควรมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายและมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ
- การปกครองที่มีประสิทธิภาพและพลานุภาพสูงเป็นกุญแจนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยทางสังคม
- การลงโทษเป็นประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม
- นักปราชญ์และแนวความคิดของพวกเขา ควรถูกควบคุมอย่างเคร่งครัดจากรัฐบาล