แปลจาก...World History ของ Mcdougal Littel
แปลโดย...ทรงศักดิ์ สายหยุด

กำเนิดศาสนายิว

กำเนิดศาสนายิว (Judaism)
ชาวฟินิเซีย (Phoenicians) อาศัยอยู่ทางตะวันออกสุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งต่อมาเรียกว่า ปาเลสไตน์ (Palestine) ชาวฟินิเซียไม่ได้เป็นชนชาติแรกที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ แต่มีชนชาติอีกชนหนึ่งอาศัยอยู่ ซึ่งชาวโรมันตั้งชื่อให้ว่า ชาวฟิลิสไตน์ (Philistines)  คานาอัน (Canaan) คือถิ่นกำเนิดอันเก่าแก่ของชาวฮีบรู (Hebrew) ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า ชาวยิว (Jew) ในบริเวณนี้  ประวัติศาสตร์ ตำนานและกฎศีลธรรมของชาวยิวมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อวัฒนธรรมของชาวตะวันตก และศีลธรรมประเพณีของชาวยิวก็เป็นต้นกำเนิดของศาสนาคริสต์และอิสลาม
การค้นหาแผ่นดินแห่งพันธสัญญา
ทำเลที่ตั้งของปาเลสไตน์โบราณทำให้เหมาะกับการเป็นทางแยกทางวัฒนธรรมของโลกยุคโบราณ ทางแผ่นดินก็เชื่อมต่อทวีปเอเชียกับทวีปแอฟริกาและติดกับจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่ทั้ง 2 แห่งที่มีความกระตือรือร้นที่จะขยายดินแดน คือ ทางทิศตะวันออก มีจักรวรรดิอัสซีเรียกับบาบิโลนและทางทิศตะวันตกมีอียิปต์  ท่าเรือของปาเลสไตน์ ก็เปิดออกไปสู่ทางน้ำที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานั้น 2 ทาง คือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง ชาวฮีบรูตั้งรกรากอยู่ในดินแดนคานาอันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำจอร์แดนกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล คานาอันเป็นที่ดินที่พระเจ้าทรงสัญญาไว้กับชาวฮีบรู
จากเมืองอูร์สู่อียิปต์  เรารู้จักประวัติศาสตร์ยุคแรกของชาวฮีบรูมากที่สุดจากคัมภีร์ห้าเล่มแรกของพระคัมภีร์ฮิบรู ชาวยิวเรียกคัมภีร์เหล่านี้ โทราห์ (Torah) และถือว่าเป็นงานเขียนอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในประเพณีของพวกเขา  ชาวคริสต์เคารพนับถือคัมภีร์เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธสัญญาเดิม (Old Testament)  ในคัมภีร์โทราห์ พระเจ้าได้เลือกอับราฮัม (Abraham) ให้เป็นบิดาของชนชาวยิว
อับราฮัมเป็นคนเลี้ยงแกะที่อาศัยอยู่ในเมืองอูร์ในเมโสโปเตเมีย หนังสือปฐมกาล (Book of Genesis) เล่าไว้ว่า พระเจ้าทรงบัญชาให้อับราฮัมอพยพประชาชนของพระองค์ไปยังคานาอัน  ประมาณ 1,800 ปีก่อนคริสตกาล อับราฮัม พร้อมครอบครัวและฝูงแกะจึงเดินทางไปยังคานาอัน จากนั้นประมาณ 1,650 ปีก่อนคริสตกาลลูกหลานของอับราฮัมอพยพไปอยู่ที่อียิปต์
พระเจ้าของอับราฮัม  พระคัมภีร์บอกว่าอับราฮัมและครอบครัวเดินทางเป็นเวลาหลายปี จากการเมโสโปเตเมียไปยังคานาอัน ไปยังอียิปต์และย้อนกลับมาที่คานาอัน พระเจ้าของพวกเขาทรงพระนามว่า ยาห์เวห์ (Yahweh) ได้ทรงเฝ้าดูพวกเขาอยู่ตลอดเวลา
ชาวฮีบรูนับถือพระเจ้าองค์เดียว ไม่เหมือนกลุ่มผู้คนอื่น ๆ ที่อยู่รอบ ๆ พวกเขาที่นับถือพระเจ้าหลายองค์ พวกเขาสวดมนต์อธิษฐานต่อพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น การนับถือพระเจ้าองค์เดียว เรียกว่า Monotheism คือ ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว มาจากคำภาษากรีก Mono มีความหมาย "หนึ่ง" และ theism  มีความหมาย "นับถือพระเจ้า"  ชาวฮีบรูประกาศสรรเสริญพระยาห์เวห์ให้เป็นพระเจ้าองค์หนึ่งและองค์เดียวเท่านั้น ในสายตาของพวกเขา พระยาห์เวห์มีอำนาจเหนือผู้คนทั้งหมดในทุกสถานที่   สำหรับชาวฮีบรูแล้วพระเจ้าไม่ได้มีพระวรกาย และไม่มีรูปกายที่เกิดจากพระองค์
ชาวฮีบรูอ้อนวอนพระยาห์เวห์ให้ปกป้องพวกเขาจากศัตรู เหมือนกับคนอื่น ๆ ที่อธิษฐานต่อพระเจ้าให้ปกป้องพวกเขา ตามที่กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล พระยาห์เวห์ได้เฝ้าดูชาวฮีบรูไม่ใช่เพียงเพราะมีพิธีกรรมและการเสียสละมากมาย แต่เป็นเพราะอับราฮัมได้สัญญาว่าจะเชื่อฟังพระองค์ ในทางกลับกัน พระยาห์เวห์ก็ทรงให้สัญญาว่าจะปกป้องอับราฮัมและลูกหลานของเขา  สัญญาร่วมกันระหว่างพระเจ้าและผู้ก่อตั้งชาวฮีบรูนี้ เรียกว่า พันธสัญญา (covenant)

โมเสสกับการอพยพ  
พระคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ว่า ชาวฮีบรูได้อพยพไปยังอียิปต์เพราะภัยแล้งและภัยคุกคามจากการความอดอยาก ตอนแรก ชาวฮีบรูได้รับตำแหน่งอันมีเกียรติในราชอาณาจักรอียิปต์  แต่ ต่อมา พวกเขาถูกบังคับให้เป็นทาส

"เดินทางไปเถิดประชาชนของฉัน"   ชาวฮีบรูหนีจากอียิปต์ น่าจะอยู่ระหว่าง 1,300 - 1,200 ปีก่อนคริสตกาล ชาวยิวเรียกเหตุการณ์นี้ "the Exodus – การอพยพ" และพวกเขาจำได้ว่าอยู่ระหว่างเทศกาลปัสกา (เป็นเทศกาลที่ชาวยิวระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงนำพวกเขาออกจากการเป็นทาสในอียิปต์) ของทุกปี  คัมภีร์โทราห์เล่าไว้ว่า คนที่นำชาวฮีบรูออกจากการเป็นทาส ชื่อโมเสส (Moses)  คัมภีร์กล่าวไว้ว่า ในเวลาที่โมเสสเกิด ฟาโรห์แห่งอียิปต์รู้สึกว่าถูกคุกคามจากชาวฮีบรูในอียิปต์เป็นจำนวน  ดังนั้น พระองค์จึงสั่งให้นำทารกชายชาวฮิบรูทั้งหมดไปฆ่าเสีย  มารดาของโมเสสได้ซ่อนลูกน้อยของเธอไว้ในดงต้นอ้อริมฝั่งแม่น้ำไนล์  มีเจ้าหญิงอียิปต์มาพบและรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม  แม้ว่า เด็กนั้นจะถูกเลี้ยงให้อยู่ในความหรูหรา แต่เขาก็ไม่ลืมว่าตัวเองมีกำเนิดเป็นชาวฮิบรู  เมื่อพระเจ้าทรงสั่งให้เขานำชาวยิวออกจากอียิปต์ เขาก็เชื่อฟัง

พันธสัญญาใหม่  ขณะที่ชาวฮีบรูเดินทางข้ามคาบสมุทรไซนาย (Sinai) โมเสสได้ปีนขึ้นยอดเขาไซนายเพื่อสวดมนต์อธิษฐาน พระคัมภีร์ไบเบิลกล่าวไว้ว่า โมเสสได้พูดคุยกับพระเจ้า  เมื่อโมเสสลงมาจากภูเขาไซนายและนำแผ่นหิน 2 แผ่นที่พระยาห์เวห์ได้เขียนบัญญัติสิบประการไว้ลงมาด้วย
บัญญัติเหล่านี้และคำสอนอื่น ๆ ที่โมเสสได้ส่งมอบให้กับประชาชนของเขาได้กลายเป็นพื้นฐานสำหรับกฎหมายแพ่งและศีลธรรมทางศาสนายูดาย  ชาวฮีบรูเชื่อว่ากฎหมายเหล่านี้เกิดเป็นพันธสัญญาใหม่ระหว่างพระเจ้าและชาวฮิบรู พระเจ้าทรงประทานสัญญาว่าจะปกป้องชาวฮีบรู  ชาวฮีบรูก็ให้สัญญาว่าจะรักษาพระบัญญัติของพระเจ้า
แผ่นดินและประชาชนแห่งพระคัมภีร์ไบเบิล  พระคัมภีร์โทราห์รายงานว่าชาวฮีบรูเดินทางเร่ร่อนเป็นเวลา 40 ปีในทะเลทรายไซนาย ต่อมา พระคัมภีร์ไบเบิลบอกเล่าประวัติศาสตร์ของชาวฮีบรูหลังจากพวกเขาเดินทางเร่ร่อน หลังจากโมเสสเสียชีวิต ชาวฮีบรูก็กลับไปยังดินแดนคานาอันซึ่งเป็นสถานที่ที่อับราฮัมเคยอาศัยอยู่  ชาวฮีบรูได้เปลี่ยนแปลงจากสังคมชนเผ่าเร่ร่อนไปเป็นคนเลี้ยงปศุสัตว์ เกษตรกร และชาวเมือง พวกเขาได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากประชาชนที่เป็นเพื่อนบ้านในคานาอัน
ขณะที่ชาวฮีบรูเดินทางมาถึงคานาอัน พวกเขาก็ถูกจัดเข้าในชนเผ่า 12 เผ่าแบบไม่เข้มงวด ชนเผ่าเหล่านี้อาศัยอยู่ในดินแดนที่เป็นอิสระและปกครองตนเอง ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน พระคัมภีร์ไบเบิลรายงานว่าพระเจ้าจะทรงฟื้นคืนชีพมาทรงพิพากษา ชาวฮีบรูจะรวบรวมชนเผ่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและจัดหาผู้นำทางการพิจารณาคดีและทางการทหารในช่วงวิกฤต ในที่สุด พระเจ้าทรงเลือกผู้พิพากษาขึ้นมาชุดหนึ่ง หนึ่งในนั้น เป็นผู้หญิงที่มีชื่อเสียงที่สุด ชื่อ เดโบราห์ (Deborah)                        

 
แผนที่ที่ตั้งคานาอัน
แผนที่คานาอัน ซึ่งเป็นทางแยกไปได้ทั่วทุกทวีป เมื่อ 2,000 - 600 ปี ก่อนคริสตกาล


รูปปั้นโมเสส
รูปปั้นโมเสส รูปนี้  ปั้นโดยมีเกลันเจโล


คัมภีร์โทราห์
จารีตประเพณีบอกไว้ว่า คัมภีโทราห์จะเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นม้วน ๆ และเก็บไว้ที่โบสถ์ยิวในหีบที่มีลวดลายประดับประดา ซึ่งเรียกว่า ark

กฎหมายของชาวฮีบรู  ความเป็นผู้นำของเดโบราห์เป็นเรื่องพิเศษสำหรับผู้หญิงชาวฮิบรู บทบาทของผู้ชายและผู้หญิงค่อนข้างแยกจากกันในสังคมฮิบรูโดยสิ้นเชิง ผู้หญิงไม่สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ โดยทั่วไป หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้หญิงชาวฮิบรูก็คือการเลี้ยงลูกและสอนความเป็นผู้นำทางศีลธรรมให้กับลูก ๆ
บัญญัติ 10 ประการเป็นส่วนหนึ่งของประมวลกฎหมายที่พระเจ้าทรงมอบให้กับโมเสส  ประมวลกฎหมายรวมถึงกฎอื่น ๆ ที่จัดระเบียบพฤติกรรมทางสังคมและศาสนา  อีกประการหนึ่ง ประมวลกฎหมายนี้คล้ายกับประมวลกฎหมายฮัมมูราบี ซึ่งมีทัศนคติที่ว่า  "ตาต่อตา ฟันฟัน"  อย่างไรก็ตาม การตัดสินที่เข้มงวดได้อ่อนโยนลงด้วยการแสดงออกซึ่งความเมตตาของพระเจ้า  ต่อมา ประมวลกฎหมายได้ถูกตีความโดยครูสอนศาสนาที่เรียกว่า ผู้เผยพระวจนะ  (prophet – ศาสดาพยากรณ์)  การตีความเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเน้นความเท่าเทียมมาก่อนกฎหมายมากกว่าที่จะเน้นประมวลกฎหมายอื่น ๆ ในยุคนั้น  ผู้เผยพระวจนะกระตุ้นให้ชาวฮีบรูยึดมั่นพันธสัญญากับพระเจ้าอย่างต่อเนื่อง
ผู้เผยพระวจนะสอนว่า ชาวฮีบรูมีหน้าที่เคารพบูชรพระเจ้าและดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์ต่อกันและกัน เป้าหมาย คือ การดำเนินชีวิตอยู่ในศีลธรรมตามกฎหมายของพระเจ้า  ในคำพูดของผู้เผยพระวจนะ ชื่อ มีคาห์ว่า "มนุษย์เอ๋ย พระองค์ทรงสำแดงแก่เจ้าแล้วว่าอะไรดี และพระเจ้าทรงมีพระประสงค์อะไรจากเจ้า นอกจากให้กระทำความยุติธรรมและรักสัจกรุณา และดำเนินชีวิตด้วยความถ่อมใจไปกับพระเจ้าของเจ้า?"  นี้เน้นการปฏิบัติที่ถูกต้องและการเคารพบูชาพระเจ้าองค์เดียว เรียกว่า ethical  monotheism (การเคารพนับถือพระเจ้าองค์เดียว) - ซึ่งเป็นแนวความคิดของชาวฮีบรูที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของมนุษย์มาเป็นเวลาหลายพันปีผ่านทางศาสนายูดาย ศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม
ราชอาณาจักรอิสราเอล
คานาอัน ซึ่งเป็นดินแดนที่ชาวฮีบรูเชื่อว่า พระเจ้าประทานพันธสัญญาให้กับตนเอง มีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่ไม่น่าอยู่อาศัย เช่น เป็นทะเลทรายแห้งแล้ง ป่าหิน ภูเขาหญ้า และแห้งร้อน ลุ่มแม่น้ำจอร์แดนก็แห้งแล้ง น้ำก็ไม่เคยอุดมสมบูรณ์  แม้จะมีหินปูนมากมายซึมซับปริมาณน้ำฝนได้มากก็ตาม หลังจากที่ชาวฮีบรูได้ปักหลักครั้งแรกในพื้นที่ตอนกลางเยื้องไปทางใต้ของปาเลสไตน์โบราณ ก็ได้ขยายดินแดนลงไปทางใต้และทางเหนือ
ซาอูลและดาวิดก่อตั้งราชอาณาจักร
บางครั้ง ผู้พิพากษาได้รวบรวมชนเผ่าที่กระจัดกระจายกันไปทั่วเข้าด้วยกันเพื่อสร้างกองกำลังทางด้านทหารให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ชาวฟิลิสไตน์ ซึ่งเป็นชนจำพวกหนึ่งในบริเวณนั้น ได้คุกคามสถานะของชาวฮีบรู ในปาเลสไตน์สมัยโบราณ  ชาวฮีบรูเป็นเพื่อนบ้านค่อนข้างดีกับชาวคานาอัน ในที่สุด ชนเผ่าจาก 12 เผ่า ก็เหลือเผ่าขนาดใหญ่เผ่าเดียว คือ เผ่ายูดาห์ (Judah) จึงเป็นผลให้ชาวฮีบรูได้รับการเรียกขานว่า ชาวยิว (Jews) และศาสนาของพวกเขา เรียกว่า ยูดาย (Judaism)
ประมาณ 1,020  ถึง 922 ปี ก่อนคริสตกาล ชาวฮีบรูเป็นเอกภาพภายใต้การปกครองของพระราชา 3 พระองค์ คือ ซาอูล ดาวิดและโซโลมอน (Saul, David, and Solomon) ราชอาณาจักรใหม่ เรียกว่า อิสราเอล (Israel)  เป็นเวลา 100 ปี  อิสราเอลมีความสุขกับช่วงเวลาเรืองอำนาจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและความเป็นอิสระ
บรรดาราชาทั้ง 3 องค์ ซาอูลเป็นองค์แรกที่ได้รับเลือกจากคนส่วนใหญ่ เพราะเขาขับไล่ชาวฟิลิสไตน์ออกไปจากเนินเขาตอนกลางของปาเลสไตน์โบราณ ซาอูลได้รับการพรรณนาไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิลว่าเป็นคนน่าสงสาร ซึ่งประสบวงจรอุบาทว์ของความหึงหวง  หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ โอรสบุญธรรม ชื่อ ดาวิด ก็ครองราชย์ต่อมา  กษัตริย์ดาวิด ซึ่งเป็นผู้นำที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ได้รวบรวมชนเผ่าให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก่อตั้งกรุงเยรูซาเล็มขึ้นเป็นเมืองหลวงและก่อตั้งราชวงศ์ขึ้น

โซโลมอนก่อตั้งราชอาณาจักร  ประมาณ 962 ปีก่อนคริสตกาล โซโลมอนบุตรชายของดาวิด ซึ่งมีมารดาชื่อว่า บาธเชบ ก็ครองราชย์สืบต่อมา โซโลมอนเป็นกษัตริย์ฮีบรูผู้ทรงพลานุภาพมากที่สุด พระองค์ทรงสร้างอาณาจักรแห่งการค้าขายด้วยความช่วยเหลือของฮีราม เพื่อนของตนเอง ซึ่งเป็นกษัตริย์ชาวฟินิเซียนแห่งเมืองไทร์ (Tyre)  โซโลมอนยังได้ตกแต่งกรุงเยรูซาเล็มให้สวยงาม สุดยอดแห่งความสำเร็จของโครงการก่อสร้างอันยิ่งใหญ่ในกรุงเยรูซาเล็ม คือ มหาวิหาร ที่พระองค์สร้างขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติแด่พระเจ้า วิหารนั้นยังเป็นที่เก็บถาวรของหีบพันธสัญญา (Ark of the Covenant)  ซึ่งบรรจุแผ่นจารึกกฎหมายของโมเสส
วิหารที่โซโลมอนสร้างขึ้นไม่ได้มีขนาดใหญ่ แต่เปล่งประกายเหมือนอัญมณีอันล้ำค่า  เสาสำริดตั้งตระหง่านอยู่ที่ทางเข้าวิหาร วิหารเป็นหินด้านนอก ในขณะที่ผนังด้านในทำจากไม้ซีดาร์หุ้มด้วยทองคำ ห้องโถงใหญ่ประดับประดาอย่างหรูหราด้วยทองเหลืองและทองคำ โซโลมอนทรงสร้างพระราชวังสิ้นค่าใช้จ่ายมากว่าและสวยงามอลังการมากกว่าพระวิหารเสียอีก
ราชอาณาจักรแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย  โครงการก่อสร้างโซโลมอนจำเป็นต้องใช้ภาษีสูงและทำให้การเงินของราชอาณาจักรเกิดความตึงเครียดอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ทุก ๆ 3 เดือน จะมีประชาชนถูกบังคับให้ออกไปทำงานในวิหารหนึ่งเดือน ค่าใช้จ่ายและแรงงานที่ถูกบังคับทำให้เกิดความไม่พอใจมาก เป็นผลให้หลังจากกษัตริย์โซโลมอนสิ้นพระชนม์ ชาวยิวในทางตอนเหนือของราชอาณาจักรซึ่งตั้งอยู่ห่างไกลจากทางทิศใต้ไม่เห็นด้วย ประมาณ 922 ปี ก่อนคริสตกาล ราชอาณาจักรจึงถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน  อิสราเอลอยู่ทางเหนือและยูดาห์ (Judah) อยู่ทางภาคใต้
200 ปีต่อมา  ราชอาณาจักทั้งสอง คือ อิสราเอลและยูดาห์ก็เกิดความสับสนอลหม่าน  บางครั้งก็ต่อสู้กันเอง บางครั้งก็ร่วมกันต่อสู้กับศัตรู แต่ละราชอาณาจักรมีระยะเวลาแห่งความเจริญรุ่งเรือง ตามด้วยระยะเวลาแห่งความตกต่ำซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งและความเสื่อมถอย

การตกเป็นเชลยของชาวบาบิโลเนียน
ในที่สุด ภัยพิบัติก็เข้าทำลายในขณะที่ราชอาณาจักรทั้งสองสูญเสียความเป็นอิสระ ในช่วง 738 ปี ก่อนคริสตกาล ทั้งอิสราเอลและยูดาห์ก็เริ่มจ่ายเครื่องบรรณาการ คือ  เงินที่ผู้อ่อนแอกว่าจ่ายให้ผู้แข็งแรงกว่าเพื่อสันติภาพ ให้กับจักรวรรดิอัสซีเรีย  อิสราเอลและยูดาห์มีความหวังจะให้เกิดความแน่ใจว่าจักรวรรดิอัสซีเรียอันยิ่งใหญ่จะไม่โจมตี ด้วยการถวายเครื่องบรรณาการ แต่เครื่องบรรณาการนี้ยังไม่เพียงพอและในช่วง 725 ปี ก่อนคริสตกาล จักรวรรดิอัสซีเรียเริ่มล้อมซามาเรีย เมืองหลวงของอิสราเอล อย่างไม่หยุดยั้ง ประมาณ 722 ปี ก่อนคริสตกาล ราชอาณาจักรทางเหนือทั้งหมดก็ล่มสลายลงจากการโจมตีนอย่างหนักของอัสซีเรีย
ราชอาณาจักรทางตอนใต้ของยูดาห์ตั้งอยู่ได้อีก 150 ปีก่อนที่จะถูกทำลายอีกครั้ง  ยูดาห์ก็ล่มสลายในเงื้อมมือของอาณาจักบาบิโลเนีย  หลังจากที่พิชิตอิสราเอลได้แล้ว  อัสซีเรียก็สูญสิ้นอำนาจให้กับอาณาจักรบาบิโลนที่เรืองอำนาจขึ้น กษัตริย์เนบูคัดเนสซาร์ (Nebuchadnezzar) ผู้ยิ่งใหญ่แห่งบาบิโลเนีย บังคับให้ชาวอียิปต์ออกจากซีเรียและปาเลสไตน์โบราณและโจมตีกรุงเยรูซาเล็ม 2 ครั้ง ในที่สุด เยรูซาเล็มก็ล่มสลายในช่วง 586 ก่อนคริสตกาล วิหารโซโลมอนถูกทำลายจากชัยชนะของบาบิโลเนีย  ผู้รอดชีวิตเป็นอันมากถูกเนรเทศไปยังบาบิโลน ในระหว่างลี้ภัยในบาบิโลน พระคัมภีร์ไบเบิลได้อธิบายถึงวิธีที่ผู้เผยพระวจนะ ชื่อ เอเสเคียล (Ezekiel) ได้กระตุ้นให้ประชาชนปกปักษ์รักษาศาสนาให้คงอยู่ในต่างประเทศ
จากนั้น ประมาณ 50 ปีหลังจากยูดาห์ล่มสลาย ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในคำพยากรณ์อีกชนิดหนึ่ง  ในช่วง 539 ก่อนคริสตกาล กษัตริย์ไซรัสมหาราชแห่งเปอร์เซียก็พิชิตบาบิโลน ในปีต่อมา กษัตริย์ไซรัสก็อนุญาตให้ผู้ลี้ภัย 40,000 คนกลับไปยังกรุงเยรูซาเล็มเพื่อสร้างวิหารขึ้นมาใหม่  อย่างไรก็ตาม มีหลายคนยังอยู่ในบาบิโลน
           การทำงานในวิหารแห่งที่สองก็เสร็จสมบูรณ์ในช่วง 515 ปี ก่อนคริสตกาล ผนังของกรุงเยรูซาเล็มถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในช่วง 445 ปี ก่อนคริสตกาล  อย่างไรก็ตาม ในไม่ช้า จักรวรรดิอื่น ๆ ก็เข้าครอบงำภูมิภาคนี้ อันดับแรกคือเปอร์เซีย ต่อมากรีกและตามด้วยโรมัน อาณาจักรใหม่ ๆ เหล่านี้ได้เข้าปกครองทั้งปาเลสไตน์โบราณและกุมชะตากรรมของชาวยิว

กษัตริย์โซโลมอน



คัมภีร์ของฮีบรู


กษัตริย์โซโลมอน  (962 – 922 ก่อนคริสตกาล)
ในพระคัมภีร์ไบเบิล กษัตริย์โซโลมอน สวดอธิษฐานต่อพระเจ้าเพื่อเข้าใจน้ำพระทัยของพระองค์ ซึ่งพระองค์ก็อนุญาต
หลังจากนั้นไม่นาน มีเรื่องเล่าว่า มีผู้หญิง 2 คน กับเด็กชายน้อยคนหนึ่งถูกนำตัวมาเบื้องหน้าพระองค์ ต่างคนก็อ้างว่าเป็นบุตรชายของตนเอง หลังจากฟังคำให้การของหญิงทั้งสองแล้ว กษัตริย์โซโลมอนก็ประกาศว่า “จงแบ่งเด็กคนนี้เป็นสองส่วนทั้งที่มีชีวิตอยู่ แล้วเอาครึ่งหนึ่งให้ผู้หญิงคนหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งให้ผู้หญิงอีกคนหนึ่ง”
หญิงคนหนึ่งพูดว่า “กรุณาเถิดพระองค์ โปรดประทานชีวิตให้กับลูกน้อยของข้าเถิด กรุณาอย่าฆ่าเขาเลย” แต่หญิงอีกคนหนึ่งยอมรับการตัดสินของพระองค์ ด้วยการพูดว่า “แบ่งเถิดพระเจ้าข้า เด็กคนนี้ควรจะเป็นของข้าและของหญิงนั้น”
พระเจ้าโซโลมอนจึงทรงทราบว่า ผู้หญิงที่เสียสละลูกเพื่อช่วยชีวิตคือแม่ที่แท้จริง

คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนายูดาห์
คัมภีร์ฮีบรู
คัมภีร์โทราห์
            - คัมภีร์ 5 เล่มแรก พระคัมภีร์ไบเบิล
            - บรรยายกำเนิดมนุษย์และศาสนายูดาห์
            - บรรจุคำสอนหลักของศาสนายูดาห์
ศาสดาพยากรณ์
            - เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชาวยิวและเขียนโดยครูชาวยิว
            - แบ่งออกเป็นองค์แรกและองค์ต่อ ๆ มา
            - บรรยายเรื่องประวัติของชาวยิว
            - เรียกร้องความสำนึกผิดและความเชื่อฟัง
งานเขียน
            - รวบรวมงานเขียนอื่น ๆ มากมาย
            - ประกอบด้วย บทกวี ประวัติศาสตร์และเรื่องราว
             ต่าง ๆ  ตลอดจนงานเขียน
             เกี่ยวกับปรัชญา ที่เรียกว่า
wisdom literature
คัมภีร์ทาลมุด (Talmud)
            - มิชนาห์ (Mishnah) ภาคที่เขียนจากคำสอนที่
            บอกกันด้วยปากเปล่าของยิว
            - เจมาระ (Gemara)  อธิบายและตีความมิชนาห์